Category Archives: รู้เก็บ – รู้แก้ไข

การทดสอบคุณภาพของวัคซีนที่สงสัยว่าผ่านการแช่แข็ง

วัคซีนชนิดน้ำที่มี Alum ซึ่งเป็น Adjuvant (สารเพิ่มการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน)ผสมอยู่ ได้แก่ วัคซีน HB, DTP, DTP-HB,DTP-Hb-HibและdTจะเสื่อมสภาพหรือสูญเสียความแรงได้ถ้าอยู่ในอุณหภูมิที่ทำให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าสงสัยว่าวัคซีนอาจถูกแช่แข็ง ให้ทำการทดสอบโดยการสังเกตลักษณะทางกายภาพของวัคซีนดังต่อไปนี้

  • แช่แข็งวัคซีน 1 ขวด เพื่อเป็น Control (Lot.no. เดียวกัน, ผู้ผลิตเดียวกัน)
  • เมื่อวัคซีนแช่แข็งเต็มที่แล้ว นำออกมาวางนอกตู้เย็นให้ละลาย
  • เมื่อละลายแล้ว เขย่าดูการตกตะกอนเปรียบเทียบกับวัคซีนขวดที่สงสัยว่าถูกแช่แข็ง

shaketest

แนวทางการพิจารณาคุณภาพวัคซีนที่สงสัยผ่านการแช่แข็ง

   3602tgbnhy

shaketestyt

 

เหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็นและการแก้ไข

เหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไฟฟ้าดับ ตู้เย็นเสีย ปลั๊กตู้เย็นหลุดหรือหลวม ทำให้อุณหภูมิสูงหรือต่ำผิดปกติ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

ติดป้าย“ห้ามดึงปลั๊กตู้เย็น” หรือ“ห้ามปิดสวิทช์Breaker ของตู้เย็น”

ปลั๊กตู้เย็นควรมีเต้าเสียบแยกต่างหาก และพันเทปกาวให้ปลั๊กตู้เย็นติดแน่น เพื่อป้องกันการดึงผิดปลั๊ก ถ้ามีหลายเต้าเสียบให้ใช้เทปปิดเต้าเสียบที่เหลือเพื่อไม่ให้เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นที่อาจทำให้กระแสไฟฟ้าเข้าตู้เย็นไม่สม่ำเสมอ และป้องกันการดึงผิดปลั๊ก

แนวทางการปรับอุณหภูมิในตู้เย็น ในกรณีที่พบว่าอุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่าที่กำหนด

1. ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า +2°C

  • ปรับปุ่ม Thermostat ที่ตั้งไว้เดิมเพื่อทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น
  • หากอุณหภูมิต่ำกว่า 0°C ให้ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของวัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพจากการแช่แข็งหรือไม่ โดยการทำ Shake test

2. ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า +8°C

  • ตรวจดูว่าตู้เย็นยังทำงาน หรือมีกระแสไฟฟ้าเข้าตู้เย็นหรือไม่
  • ตรวจสอบประตูว่าปิดสนิทดีหรือไม่ ขอบยางเสื่อมสภาพหรือไม่
  • ตรวจสอบช่องแช่แข็งว่ามีน้ำแข็งหนาเกินกว่า 5 มม.หรือท่อกระจายความเย็นอุดตันหรือไม่
  • ปรับปุ่มThermostat ที่ตั้งไว้เดิมเพื่อทำให้อุณหภูมิต่ำลง และติดตามดูอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า +2°C
  • ระหว่างซ่อมตู้เย็นหรือทำการละลายน้ำแข็ง ให้ย้ายวัคซีนไปเก็บไว้ในตู้เย็นอื่น หรือหีบเย็น/กระติกวัคซีน

คำเตือน ห้ามปรับ Thermostat ให้อุณหภูมิต่ำลง ในกรณีต่อไปนี้

  • หลังไฟฟ้าดับให้รอจนกระแสไฟฟ้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติและอุณหภูมิกลับมาคงที่แล้ว จึงค่อยปรับThermostatตามความเหมาะสม
  • เมื่อนำวัคซีนที่เบิกมาใหม่เข้าตู้เย็น (เพราะอาจทำให้อุณหภูมิลดต่ำเกินไป)

mapemergency

ภาพผังการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น

แนวทางการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น  (Cold chain break down) ของตู้เย็น

Cold chain breakdown หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น หมายถึง เหตุการณ์ที่พบอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือต่ำกว่า 0 °C ในระหว่างขนส่งหรือจัดเก็บวัคซีน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ และส่วนใหญ่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เราจะจัดการกันอย่างไร

เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเกิดเหตุฉุกเฉินต่อระบบลูกโซ่ความเย็น จึงควรมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเฉพาะ โดยระบุชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ในแผนผังการเตรียมความพร้อมฯ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วควรจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตามมาตรฐานของงานสร้างเสริมฯ กำหนดให้มี

  1. การทำแผนเตรียมความพร้อมฯ ซึ่งควรระบุว่าเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องทำอย่างไร
  2. การทำผังเตรียมความพร้อมกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยติดไว้หน้าตู้เย็นเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน และ
  3. ควรมีการซักซ้อมหรือซ้อมเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกันด้วย เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

กรณีที่ต้องการสอบถามความคงตัวของวัคซีนจาก สำนักโรคติดต่อทั่วไป ให้บันทึกข้อมูลลงใน “แบบรายงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น” และส่งทางโทรสารหมายเลข  02-591-7716 หรือ 02-590-3196-9 ถ้าวัคซีนไม่สามารถใช้ต่อได้ ให้ตัดออกจากทะเบียนรับ-จ่าย และทำลายแบบขยะติดเชื้อ

การควบคุมกำกับอุณหภูมิในตู้เย็น

การควบคุมกำกับอุณหภูมิในตู้เย็น

ควรบันทึกอุณหภูมิในตาราง/แผนภูมิทุกวันๆละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น(ไม่เว้นวันหยุด) โดยปรับตั้ง Thermostat ให้มีอุณหภูมิอยู่ในช่วง +2 ถึง +8°Cเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา และเก็บตาราง/แผนภูมิที่บันทึกอุณหภูมิไว้ไม่น้อยกว่า 6 เดือนเพื่อตรวจสอบการทำงานของตู้เย็นว่าสามารถรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่กำหนด หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่

3510gfgngngd

ภาพตัวอย่างแบบบันทึกอุณหภูมิแบบ 1 เดือน

อุปกรณ์ควบคุมกำกับอุณหภูมิ

Vaccine Vial Monitor (VVM) เป็นเครื่องหมายที่ทำจากวัสดุไวต่อความร้อนชนิด irreversible อยู่บนฉลากของขวดวัคซีน ซึ่งใช้ชี้บ่งว่าวัคซีนสัมผัสกับความร้อนมาในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ออกจากโรงงานผลิตวัคซีนจนถึงผู้ใช้การเปลี่ยนแปลงของเครื่องหมาย VVM จะเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าวัคซีนได้สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงเกินไปจนมีผลต่อคุณภาพของวัคซีนโดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีในสี่เหลี่ยมว่าเข้มขึ้นหรือไม่

ถ้าสีในสี่เหลี่ยมมีความเข้มเท่ากับหรือมากกว่าสีในวงกลมแสดงว่าวัคซีนได้สัมผัสกับความร้อนมามากจนทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพและไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

แต่ VVM ไม่ได้ชี้บ่งเรื่องการสัมผัสกับอุณหภูมิที่เย็นจัด (freezing temperature)

vialmonitor

ภาพการแปลผลเครื่องหมาย Vaccine Vial Monitor หรือ VVM

Freeze watch (FW)เป็นอุปกรณ์ชนิด irreversible ที่ใช้ในการกำกับติดตามอุณหภูมิในระหว่างการจัดเก็บหรือขนส่งวัคซีนซึ่งมี 2 ชนิดคือชนิด 0°C  หรือ -4°C เพื่อเตือนว่าวัคซีนสัมผัสกับอุณหภูมิที่เย็นจัด โดยวาง FW ไว้ในตู้เย็น หีบเย็นหรือกระติกวัคซีน ถ้าFW สัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0°C(Subzero temperature) สีน้ำเงินที่อยู่ในกระเปาะจะแตกออกมาเปื้อนแผ่นสีขาวที่รองอยู่ (ดังภาพ) FW จึงเป็นอุปกรณ์ที่ชี้บ่งว่าวัคซีนอาจกระทบกับจุดเยือกแข็ง

แต่การตัดสินใจว่าจะใช้วัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดนั้นได้หรือไม่ ต้องทำการทดสอบคุณภาพของวัคซีนโดยการทำ Shake test

 

3502nffdbd

Data loggerคืออุปกรณ์ที่ใช้บันทึกอุณหภูมิ ซึ่งมีโปรแกรมที่ใช้กำหนดการทำงานโดยมี Sensor ที่ใช้วัดและบันทึกอุณหภูมิในช่วงประมาณ -40oC ถึง +85oC และสามารถตั้งค่าการทำงานให้บันทึกอุณหภูมิได้เป็นวินาที/นาที/ชั่วโมง สามารถบันทึกอุณหภูมิได้เป็นร้อย/พัน/หมื่นครั้ง (แล้วแต่รุ่น) แสดงผลเป็นกราฟ วัน/เวลา และอุณหภูมิที่บันทึกและข้อมูลทางสถิติ เช่น ค่าสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ย

3503oiuyhb

เทอร์โมมิเตอร์(Thermometer)คืออุปกรณ์ที่ใช้วัดอุณหภูมิ ซึ่งควรเป็นชนิดที่วัดอุณหภูมิได้ทั้งค่าบวกค่าลบ (ประมาณ -30 ถึง +50 °c) ได้แก่ Bimetal vaccine thermometer, Dial thermometer และStem thermometerโดย Bimetal vaccine thermometer และ Dial Thermometer จะมีความแม่นยำ (accuracy) ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงควรนำไปสอบเทียบ(calibration)โดยหน่วยงานมาตรฐาน ปีละ 1 ครั้ง เช่น ศูนย์วิศวกรรมการแพทย์ หรือเทียบเคียงกับเทอร์โมมิเตอร์ที่สอบเทียบแล้ว หรือกับStem Thermometer โดยการนำไปวางไว้ด้วยกันเพื่อวัดอุณหภูมิทั้งในและนอกตู้เย็น ซึ่งควรทำอย่างน้อยปีละครั้ง

3504hgfj

                      Dial Thermometer                             Stem Thermometer

Digital Thermometerเป็นเทอร์โมมิเตอร์ที่มีจอแสดงค่าที่วัดได้ บางรุ่นจะแสดงอุณหภูมิสูงสุด/ต่ำสุด และมีสัญญาณเตือน (alarm) ที่ดังขึ้นตามค่าที่ตั้งไว้ บางรุ่นมีprobeเป็นสายยาวที่นำไปใส่ในตู้เย็นแล้วสามารถอ่านอุณหภูมิจากหน้าจอของเทอร์โมมิเตอร์ที่วางอยู่นอกตู้เย็นได้

3506trfdcb3507fsfdgfd3509sfdzvxv

 

ซองน้ำแข็ง

ซองน้ำแข็ง(Icepack)คือซองพลาสติกมีฝาปิดที่ใส่น้ำถึงระดับที่บ่งชี้และนำไปแช่แข็ง ในการแช่แข็งให้เรียงIcepackในแนวตั้งให้ฝาปิดอยู่ด้านบน โดยมีช่องว่างระหว่างแผ่น เพื่อให้แข็งตัวได้ทั่วถึง ในกรณีที่ความสูงของช่องแช่แข็งไม่มากพอ ให้วางตั้งบนสันด้านข้างแทน ก่อนนำมาใช้บรรจุวัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำ

Conditioning Icepack

คือการนำ Icepack ออกมาวางในอุณหภูมิห้องในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อทำให้น้ำแข็งที่อยู่ใน Icepack มีอุณหภูมิกลับมาที่  0 องศาเซลเซียส ดังนี้

  • วางIcepack บนโต๊ะ/เคาน์เตอร์  เรียงเป็นแถวเดี่ยว  แต่ไม่ควรมากกว่า 2 แถว
  • วางIcepack ให้มีพื้นที่ว่างรอบๆ แต่ละก้อนประมาณ 5 ซม.
  • เขย่าIcepack แต่ละก้อนทุก 2-3 นาที รอจนกระทั่งมีน้ำจำนวนเล็กน้อย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และใช้เวลาน้อยลงในอุณหภูมิที่สูงกว่า น้ำแข็งในIcepack จะมีอุณหภูมิกลับมาที่ 0 องศาเซลเซียส ทันทีที่น้ำแข็งเริ่มเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย

ในระหว่างให้บริการห้ามนำวัคซีนไปวางบน Icepackโดยตรง

กระติกวัคซีน

กระติกวัคซีน (Vaccine carrier) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งหรือเก็บวัคซีนไว้ชั่วคราวเหมือนหีบเย็น แต่มีขนาดเล็กกว่า และเก็บความเย็นได้ไม่นานเท่าหีบเย็น ควรเก็บความเย็นได้นานอย่างน้อย24 ชั่วโมงและควรมีIcepackที่มีขนาดพอดีที่จะจัดเรียงลงในกระติกโดยไม่เคลื่อนไปมา

3405qwdrs

3406fyjjk

การจัดเรียงวัคซีนลงในกระติกหรือหีบเย็น

  1. วางIcepackที่เริ่มละลายแล้ว (Conditioned icepack) ในด้านข้างทั้ง 4 ด้านและด้านล่างในกรณีที่เป็นหีบเย็นหรือกระติกขนาดใหญ่
  2. ห่อวัคซีนแล้ววางไว้กลางกระติกและวางIcepackบนห่อวัคซีนก่อนปิดฝาในกรณีที่เป็นหีบเย็นหรือกระติกขนาดใหญ่
  3. ปิดฝาให้สนิทและวางไว้ในที่ร่ม
  4. ถ้ามีแผ่นฟองน้ำ(foam pad)วางใต้ฝาปิด จะช่วยกันความร้อนได้ และถ้ามีขวดวัคซีนที่เปิดใช้แล้วให้เสียบขวดวัคซีนไว้ที่แผ่นฟองน้ำ จะทำให้วัคซีนไม่ปนเปื้อนเมื่อวางแช่อยู่ในน้ำที่ละลายจากIcepackบริเวณก้นกระติก ในกรณีที่แผ่นฟองน้ำชำรุด ให้ตัดฟองน้ำ/ โฟมใส่แทน

conditioned Icepack

3408huyghj

3410plmnbvcds

3411edcfrtg3412rfvbgt

การดูแลหีบเย็นและกระติกวัคซีน

  • หลังการใช้งาน ทำความสะอาดแล้วเปิดฝาวางทิ้งไว้ให้แห้ง เพื่อป้องกันเชื้อรา
  • เก็บในที่ร่ม เพื่อป้องกันการแตกร้าว
  • ห้ามโยนหรือเคาะหีบเย็น/กระติก และนำสิ่งของอื่นไปวางทับ เพราะจะทำให้แตกได้ไม่ควรผึ่งแดด เพราะอาจทำให้กรอบและแตกร้าว

หีบเย็น

หีบเย็น (Vaccine cold box)หรือกระติกวัคซีนใบใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เก็บวัคซีนในระหว่างการขนส่ง หรือเมื่อมีไฟฟ้าดับนาน/ตู้เย็นเสีย หรือในระหว่างการละลายน้ำแข็งในช่องแช่แข็ง ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะใช้ในการขนส่งวัคซีนในแต่ละเดือน โดยมีIcepackวางไว้โดยรอบทุกด้านและควรเก็บความเย็นได้ อย่างน้อย24 ชั่วโมง

3403poijuyh           การจัดเก็บวัคซีนในหีบเย็น

ตู้เย็น

ตู้เย็น คลังวัคซีนระดับอำเภอและสถานบริการส่วนใหญ่ใช้ตู้เย็นบ้าน (Domestic Refrigerator) ที่ต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) จะเป็นตู้เย็นฝาประตูทึบแสงชนิด 2 ประตูแยกช่องแช่แข็ง (freezing compartment) และช่องธรรมดา (refrigerator compartment) หรือเป็นฝาเดียวขึ้นกับการใช้งาน และปัจจุบันมีตู้เย็นบ้านที่มีช่องแช่แข็งด้านล่าง เมื่อซื้อมาใช้งานให้ศึกษาระบบการกระจายความเย็นของแต่ละชนิดให้ดี เพื่อจะได้จัดวางวัคซีนได้ถูกต้อง

3401dtfftyd

ภาพตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาวัคซีน

ตู้เย็นที่ใช้เก็บเก็บวัคซีน ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

  1. มีเครื่องหมาย มอก.
  2. ถ้าเป็นตู้เย็นที่อยู่ในคลังของ รพ. ต้องเป็นชนิดฝาประตูทึบและมี 2 ประตูแยกช่องแช่แข็งและช่องแช่เย็น มีความจุอย่างน้อย 18 คิว เพราะต้องสต็อกวัคซีนให้ลูกข่ายอย่างน้อย 1.5-2 เดือนรวมทั้งต้องเผื่อพื้นที่สำหรับเก็บวัคซีนที่ใช้ในการรณรงค์ด้วย เช่น วัคซีนนักเรียน และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าเป็น รพ.สต. มีความจุน้อยกว่าได้คือประมาณ  5 คิวขึ้นไปที่สามารถเก็บวัคซีนได้อย่างน้อย 1 เดือน
  3. รักษาอุณหภูมิได้คงที่ตลอดปี และเก็บความเย็นไว้ได้นาน โดยถ้าไฟฟ้าดับควรเก็บความเย็นได้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  4. อายุการใช้งานของตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีนไม่ควรเกิน 10 ปี ถ้าเกินควรซื้อเครื่องใหม่ ซึ่งจะทำความเย็นและเก็บรักษาได้ดีกว่า

ตู้เย็นประตูกระจกใสไม่แนะนำให้ใช้ เพราะ แสงจะส่องผ่านไปทำลายวัคซีนบางชนิดได้ นอกจากนี้เวลาไฟฟ้าดับหรือปลั๊กตู้เย็นหลุด  อุณหภูมิภายในตู้เย็นจะเพิ่มขึ้นเร็วมากเพราะไม่มีฉนวนป้องกัน

การดูแลตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีน

  1. ปรับอุณหภูมิในช่องแช่แข็งให้อยู่ใน -15 ถึง -25 องศาเซลเซียส
  2. ปรับอุณหภูมิในช่องธรรมดาให้อยู่ในช่วง +2 ถึง +8 °C และเพื่อป้องกันไม่ให้วัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดแข็งตัว ควรปรับ Thermostat ให้ได้ +2°C ถึง +4 °C ในช่วงเวลาที่เย็นที่สุด
  3. ตรวจสอบอุณหภูมิทั้ง 2 ช่องวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น บันทึกทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
  4. ใส่Icepackในช่องแช่แข็ง และขวดใส่น้ำมีฝาปิดวางไว้ชั้นล่างให้เต็มช่องแช่ผักเพื่อเพิ่มอายุความเย็น ( Cold life) ทำให้เก็บรักษาความเย็นได้คงที่ในกรณีเปิดตู้เย็นบ่อย และกรณีไฟดับ
  5. ติดตั้งในที่แสงแดดส่องไม่ถึง และให้ผนังตู้ทั้ง 3 ด้านห่างจากฝาผนังห้องหรืออุปกรณ์อื่นไม่ต่ำกว่า 6 นิ้ว เพื่อให้ตู้เย็นระบายความร้อนได้ดี
  6. ทำความสะอาดขอบยางและป้องกันไม่ให้เชื้อราเกาะ โดยใช้น้ำอุ่นผสมน้ำสบู่เช็ดถูให้ทั่วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดจนสะอาดใช้ผ้าแห้งเช็ดน้ำออกให้แห้งแล้วใช้ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำเปล่า เช็ดตามขอบตู้เย็นอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อราหรือเอาผ้าชุบน้ำส้มสายชูเช็ดถูบริเวณขอบยางที่เป็นรา
  7. ติดตั้งในบริเวณที่มีระบบไฟฟ้าสำรองมาถึงและเสียบปลั๊กและใช้เทปพันปลั๊กให้แน่น
  8. ถ้ามีน้ำแข็งเกาะหนาในช่องแช่แข็งเกิน 5 มม. ควรละลายน้ำแข็งออกให้หมดเพราะน้ำแข็งจะไปอุดกั้นไม่ให้ความเย็นไหลลงช่องธรรมดา

การจัดเรียงวัคซีนในตู้เย็น ควรจัดเก็บวัคซีนไว้ในตะกร้าโปร่งเพื่อให้ความเย็นไหลเวียนได้ทั่วถึง วัคซีนที่ไวต่อแสงให้ใส่ไว้ในกล่องหรือภาชนะที่ป้องกันแสง และวางวัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดไว้ตรงกลางของช่องธรรมดา (refrigerator compartment) พร้อมเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อกำกับติดตามอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า +2°C และติดป้ายชื่อที่ชั้นวางวัคซีนเพื่อป้องกันการหยิบวัคซีนผิด  ดังภาพ

3402qwery

ภาพแสดงการเก็บรักษาวัคซีนในตู้เย็น

อุปกรณ์ที่ใช้จัดเก็บวัคซีน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนและการดูแลรักษาอุปกรณ์ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้กำกับอุณหภูมิ

อุปกรณ์ที่ใช้เก็บวัคซีน ได้แก่ ตู้เย็น หีบเย็น กระติกวัคซีน ไอซ์แพค

อุปกรณ์ที่ใช้ในการกำกับติดตามอุณหภูมิซึ่งมีหลายชนิด เช่น VVM, Freeze watch, Data logger และ Thermometer

whattokeep

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของวัคซีน

วัคซีน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งที่มีชีวิตหรือที่ได้จากการสังเคราะห์หรือกระบวนการอื่นและนำมาใช้ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคของมนุษย์ การที่วัคซีนจะคงสภาพและความแรงอยู่ได้นั้นมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการคือ ความร้อน ความเย็น และแสง

factoreffect

 

1. ความร้อน

วัคซีนทุกชนิดจะสูญเสียคุณภาพถ้าสัมผัสกับความร้อน แต่วัคซีนชนิดต่างๆ จะไวต่อความร้อนไม่เท่ากัน โดยสามารถเรียงลำดับความไวต่อความร้อน  (Heat sensitivity) ได้ดังนี้ จากรูปจะเห็นว่า OPV ไวต่อความร้อนมากที่สุด ทำให้วัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บในช่องแช่แข็ง -15 ถึง -25 องศาเซลเซียส และที่รองมาคือ MMR เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เหมือนกัน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์จะชอบความเย็นจัดและทนต่อความร้อนได้น้อย จะเสื่อมสภาพเร็วถ้าสัมผัสความร้อน ดังภาพที่ 1

HotSensitive

การเรียงลำดับของวัคซีนตามความไวต่อความร้อน  (Heat sensitivity)

 

2. ความเย็นจัด (freeze sensititvity)

วัคซีนเชื้อตายที่มี antigen จับกับสารช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (adjuvant) เช่น HBV, DTP-HB, DTP, dTมีความไวต่อความเย็นจัด ในขณะที่มีความไวต่อความร้อนจัดเช่นเดียวกัน วัคซีนกลุ่มนี้ถ้าเกิดการแข็งตัวที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จะทำให้ adjuvant กับ antigen แตกออกจากกัน ทำให้วัคซีนสูญเสียความแรงและเสื่อมสภาพทันที

coldSensitivea

การเรียงลำดับของวัคซีนตามความไวต่อความเย็นจัด  (Freeze sensitivity)

 

3. แสง (light sensitivity)

วัคซีนชนิดผงแห้ง (freeze dried vaccine) เช่น BCG, MMR, MRและJE (เชื้อเป็น) เป็นวัคซีนที่ไวต่อความร้อนแล้วยังไวต่อแสงด้วย ทั้งแสงจากดวงอาทิตย์และแสง fluorescent จะเสื่อมเร็วขึ้นหากผสมกับน้ำยาทำละลายแล้ว

lightsence

สรุปผลของอุณหภูมิที่มีวัคซีน

วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จะชอบความเย็นจัด และจะเสื่อมสภาพเร็วเมื่อสัมผัสความร้อน
วัคซีนเชื้อตายและท็อกซอยด์ จะเสื่อมสภาพทันที่เมื่อสัมผัสความเย็นจัด