หน้าหลัก » บทเรียน » รู้เก็บ - รู้แก้ไข » เหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็นและการแก้ไข

เหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็นและการแก้ไข
อ่าน 20445 ครั้ง

เหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไฟฟ้าดับ ตู้เย็นเสีย ปลั๊กตู้เย็นหลุดหรือหลวม ทำให้อุณหภูมิสูงหรือต่ำผิดปกติ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

ติดป้าย“ห้ามดึงปลั๊กตู้เย็น” หรือ“ห้ามปิดสวิทช์Breaker ของตู้เย็น”

ปลั๊กตู้เย็นควรมีเต้าเสียบแยกต่างหาก และพันเทปกาวให้ปลั๊กตู้เย็นติดแน่น เพื่อป้องกันการดึงผิดปลั๊ก ถ้ามีหลายเต้าเสียบให้ใช้เทปปิดเต้าเสียบที่เหลือเพื่อไม่ให้เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นที่อาจทำให้กระแสไฟฟ้าเข้าตู้เย็นไม่สม่ำเสมอ และป้องกันการดึงผิดปลั๊ก

แนวทางการปรับอุณหภูมิในตู้เย็น ในกรณีที่พบว่าอุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่าที่กำหนด

1. ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า +2°C

  • ปรับปุ่ม Thermostat ที่ตั้งไว้เดิมเพื่อทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น
  • หากอุณหภูมิต่ำกว่า 0°C ให้ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของวัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพจากการแช่แข็งหรือไม่ โดยการทำ Shake test

2. ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า +8°C

  • ตรวจดูว่าตู้เย็นยังทำงาน หรือมีกระแสไฟฟ้าเข้าตู้เย็นหรือไม่
  • ตรวจสอบประตูว่าปิดสนิทดีหรือไม่ ขอบยางเสื่อมสภาพหรือไม่
  • ตรวจสอบช่องแช่แข็งว่ามีน้ำแข็งหนาเกินกว่า 5 มม.หรือท่อกระจายความเย็นอุดตันหรือไม่
  • ปรับปุ่มThermostat ที่ตั้งไว้เดิมเพื่อทำให้อุณหภูมิต่ำลง และติดตามดูอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า +2°C
  • ระหว่างซ่อมตู้เย็นหรือทำการละลายน้ำแข็ง ให้ย้ายวัคซีนไปเก็บไว้ในตู้เย็นอื่น หรือหีบเย็น/กระติกวัคซีน

คำเตือน ห้ามปรับ Thermostat ให้อุณหภูมิต่ำลง ในกรณีต่อไปนี้

  • หลังไฟฟ้าดับให้รอจนกระแสไฟฟ้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติและอุณหภูมิกลับมาคงที่แล้ว จึงค่อยปรับThermostatตามความเหมาะสม
  • เมื่อนำวัคซีนที่เบิกมาใหม่เข้าตู้เย็น (เพราะอาจทำให้อุณหภูมิลดต่ำเกินไป)

mapemergency

ภาพผังการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น

แนวทางการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น  (Cold chain break down) ของตู้เย็น

Cold chain breakdown หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น หมายถึง เหตุการณ์ที่พบอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือต่ำกว่า 0 °C ในระหว่างขนส่งหรือจัดเก็บวัคซีน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ และส่วนใหญ่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เราจะจัดการกันอย่างไร

เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเกิดเหตุฉุกเฉินต่อระบบลูกโซ่ความเย็น จึงควรมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเฉพาะ โดยระบุชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ในแผนผังการเตรียมความพร้อมฯ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วควรจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตามมาตรฐานของงานสร้างเสริมฯ กำหนดให้มี

  1. การทำแผนเตรียมความพร้อมฯ ซึ่งควรระบุว่าเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องทำอย่างไร
  2. การทำผังเตรียมความพร้อมกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยติดไว้หน้าตู้เย็นเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน และ
  3. ควรมีการซักซ้อมหรือซ้อมเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกันด้วย เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

กรณีที่ต้องการสอบถามความคงตัวของวัคซีนจาก สำนักโรคติดต่อทั่วไป ให้บันทึกข้อมูลลงใน “แบบรายงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น” และส่งทางโทรสารหมายเลข  02-591-7716 หรือ 02-590-3196-9 ถ้าวัคซีนไม่สามารถใช้ต่อได้ ให้ตัดออกจากทะเบียนรับ-จ่าย และทำลายแบบขยะติดเชื้อ

»