ดร.อัญชลี ศิริพิทยาคุณกิจและคณะ (เรียบเรียง)
ผศ.ดร.ปรีย์กมล รัชนกุล คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 7

7.9 การสื่อสารเกี่ยวกับอาการหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
อ่าน 3786 ครั้ง

เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก ความไม่เข้าใจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติซึ่งอาจจะนำไปสู่การร้องเรียนเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการวัคซีน เกิดข่าวลือเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของวัคซีนในชุมชน และสื่อสาธารณะ   ผู้ให้บริการต้องมีทักษะในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการที่อาจพบได้หลังการให้วัคซีนแต่ละชนิด ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ

การสื่อสารก่อนให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

แจ้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง เกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่สามารถพบได้ และไม่เป็นอันตราย และแจ้งให้ทราบถึงอาการข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานกับการเกิดอาการอัมพาต วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับการเกิดกลุ่มอาการ Guillain Barre Syndromes (GBS) ข้อมูลเกี่ยวกับอาการต่างๆ จะช่วยสร้างความตระหนักแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้รับบริการ ให้สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

การสื่อสารหลังให้บริการ

สิ่งสำคัญคือเน้นย้ำการอยู่สังเกตอาการที่หน่วยบริการเป็นเวลา 30 นาที แจ้งอีกครั้งสำหรับอาการที่พบได้ และอาการที่เป็นแล้ว ต้องรีบพามา รพ. ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย AEFI ซึ่งมีอาการรุนแรง เช่น  Anaphylaxis  อัมพาต จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลให้อยู่ในการดูแลของแพทย์  ทีมบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วย นอกเหนือจากต้องแจ้งข้อมูลอาการผู้ป่วย วิธีการรักษา สาเหตุการเกิด ตรงตามความจริง เพื่อให้ผู้ปกครองทราบสถานการณ์และสาเหตุอย่างแท้จริงแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับผู้รับบริการว่าการพิสูจน์สาเหตุของอาการและอาการแสดงต่างๆต้องใช้เวลานาน ผู้ให้บริการควรติดตามความก้าวหน้าของการสอบสวนโรคและพิสูจน์ต่างๆและให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ผู้รับบริการรู้สึกว่าถูกละเลย การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอด้วยความเห็นอกเห็นใจจะช่วยลดความตึงเครียดของผู้รับบริการได้ อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดข่าวลือ เนื่องจากความเข้าใจผิดได้อีกด้วย