การนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีดเข้าฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ (Intramuscular)
ได้แก่ DTP, DTP-HB, DTP-HB-Hib, HBV, IPV, HPV, Influenza, Hib
ใช้เมื่อต้องการให้การดูดซึมของวัคซีนดี ใช้กับวัคซีนที่มีสารดูดซับ (adjuvant)
หากฉีดไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เข้าเพียงชั้นในหนังหรือใต้หนังจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นไตแข็งเฉพาะที่ได้ การฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นการนำวัคซีนเข้าสู่ muscle tissue ซึ่งเป็นชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังและ fatty tissue ดังแสดงในภาพ ซึ่งมีบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการฉีดอยู่ 2 ที่ คือ บริเวณต้นแขน (Deltoid) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการดูดซึมดีที่สุด เพราะไขมันไม่มาก เลือดเลี้ยงดีและแขนมีการเคลื่อนไหวทำให้การดูดซึมของยาดี และบริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปด้านนอก (Mid-anterolateral thigh) บริเวณกล้ามเนื้อ vastas lateralis การฉีดบริเวณหน้าขามักนิยมฉีดในเด็กเล็ก เนื่องจากบริเวณต้นแขนยังมีกล้ามเนื้อน้อย ส่วนในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่จะฉีดบริเวณต้นแขน
วัคซีนที่ให้ทางกล้ามเนื้อ ได้แก่ วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP) วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) เป็นต้น
นอกจากนี้ ห้ามฉีดวัคซีนที่สะโพก เพราะอาจฉีดเข้าชั้นไขมันใต้หนังลงลึกไม่ถึงกล้ามเนื้อ นอกจากนี้เลือดยังไปเลี้ยงสะโพกน้อยกว่าที่ต้นแขน อีกทั้งสะโพกมีการเคลื่อนไหวน้อย ทำให้วัคซีนดูดซึมได้ไม่ดี และจะมีผลให้การสร้างภูมิต้านทานไม่ดีด้วย และที่สำคัญคืออาจทำให้เกิด Sciatic nerve injury ทำให้เกิดความพิการของขาแบบถาวรได้
สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด หรือถึงก่อนเข้าวัยเรียน
สามารถฉีดวัคซีนบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า(Vastus lateralis) ซึ่งจะอยู่บริเวณต้นขาหน้าค่อนไปด้านนอก (Antero lateralis) ก่อนฉีดจะต้องทำการวัดก่อน โดยแบ่งบริเวณตั้งแต่ปุ่มกระดูกใหญ่ของกระดูกต้นขา (Greater tronchanter of femur) ถึง ปุ่มกระดูกบริเวณหัวเข่า (Lateral femoral condyle) เป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน แล้วฉีดในบริเวณส่วนที่ 2 ค่อนไปด้านข้าง ดังภาพ
สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่
การให้วัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อ มักจะฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อ ต้นแขน (Deltoid) ดังแสดงในภาพ
ขนาดเข็มและความยาวของเข็ม: ใช้เข็มเบอร์ 25 ความยาว 1 –1 นิ้วครึ่ง
ขึ้นกับความหนาของผิวหนังและชั้นไขมันของผู้รับวัคซีน
เทคนิค
เช็ดแอลกอฮอล์ ใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้กดบริเวณที่ฉีดให้ตึง แทงเข็มทำมุม 90 องศา และดันวัคซีนเข้าไป (ควรทดสอบก่อนดันวัคซีนเข้าไปทุกครั้ง) หากแทงเข็มไปพบว่ากระทบกระดูกให้ถอยเข็มขึ้นมา และหากทดสอบแล้วพบว่ามีเลือดออกให้ถอนเข็มออกและทิ้ง set เดิม เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด การฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อต้องพิจารณาขนาดความยาวของเข็มให้แน่ใจว่าเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อจริง ๆ ดังนั้นการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับขนาดรูปร่างของผู้รับวัคซีน เมื่อฉีดวัคซีนเสร็จใช้สำลีแห้งกดบริเวณที่ฉีด หรือใช้พลาสเตอร์ปิดโดยกดเล็กน้อย