ภญ.ปิยะนาถ เชื้อนาคและคณะ (เรียบเรียง)
อ.ศยามล รมพิพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 5

5.7.3 ตัวอย่างเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น และแนวทางการจัดการ
อ่าน 5726 ครั้ง

ตัวอย่างที่ 2

“ ตู้เย็นสำหรับจัดเก็บวัคซีนของ รพ.สต. แห่งหนึ่ง พบว่ามีอุณหภูมิสูง 15°C โดยตู้เย็นนั้นมีอายุการใช้งานมานาน 10 ปี ซึ่งมีวัคซีนในตู้เย็น ดังนี้ DTP, DTP-HB, IPV, dT, OPV, MMR และ JE (เชื้อเป็น)”

แนวทางการจัดการเพื่อแก้ไขและป้องกัน ควรทำอย่างไร ?

แนวทางการจัดการ

1. การแก้ไข

  • รีบย้ายวัคซีนทั้งหมดไปไว้ในอุปกรณ์อื่นที่มีอุณหภูมิ +2°C ถึง +8°C เช่น ตู้เย็นอื่น กระติกวัคซีน หรือกล่องโฟม เป็นต้น
  • ตรวจสอบข้อมูลความคงตัวของวัคซีนทั้งหมด หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มบริหารจัดการวัคซีน กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค เพื่อการตัดสินใจใช้วัคซีนต่อ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีวัคซีนเสื่อมสภาพไม่สามารถใช้ต่อได้ ให้แยกวัคซีนดังกล่าวออกจากวัคซีนอื่น พร้อมทั้งตัดออกจากทะเบียนรับ-จ่ายวัคซีน และทำลายแบบขยะติดเชื้อ แล้วรีบแจ้งโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อขอเบิกวัคซีนดังกล่าวมาทดแทน
  • ตรวจสอบหาสาเหตุของอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ได้แก่ ตรวจสอบการทำงานของตู้เย็นว่ายังทำงานได้ปกติหรือไม่ ซึ่งรวมทั้งการทำงานของระบบทำความเย็นและคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากตู้เย็นมีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก ตรวจสอบปลั๊กหลุด/ หลวม หรือสายไฟยังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ ตรวจสอบขอบยางของตู้เย็นว่ามีการเสื่อมสภาพจนแข็งตัวหรือเกิดการแข็งตัวเนื่องจากมีเชื้อราเกาะหรือไม่ ตรวจสอบว่ามีน้ำแข็งเกาะหนาในช่องแช่แข็งหรือไม่ เป็นต้น
  • เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ให้รีบทำการแก้ไขปัญหา โดยหากสาเหตุเกิดจากการทำงานของตู้เย็น ซึ่งไม่สามารถซ่อมได้ ต้องจัดหาตู้เย็นใหม่ทดแทน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการจัดเก็บวัคซีนในระยะยาว
  • หลังจากแก้ไขปัญหาแล้ว และตู้เย็นมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง +2°C ถึง +8°C ให้ย้ายวัคซีนทั้งหมดมาจัดเก็บไว้ให้ถูกต้องตามชนิดของวัคซีน

2. การป้องกัน

  • เนื่องจากตู้เย็นมีอายุการใช้งานค่อนข้างมากจึงควรหมั่นตรวจสอบการทำงานของตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ
  • ปลั๊กตู้เย็นควรมีเต้าเสียบแยกต่างหาก หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้เต้าเสียบร่วมกัน ไม่ให้ใช้ร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น (ยกเว้น ตู้เย็นสำหรับจัดเก็บวัคซีน/ ยา) และให้ใช้เทปพันปลั๊กให้ติดแน่นกับเต้าเสียบ เพื่อป้องกันปลั๊กหลุด/ หลวม และไม่ใช้ปลั๊กพ่วง รวมทั้งควรหมั่นตรวจสอบสภาพของสายไฟให้ปกติอยู่เสมอ
  • หมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดขอบยางอย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อพบว่ามีเชื้อราเกาะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขอบยางแข็ง ทำให้ตู้เย็นปิดไม่สนิท ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบว่าขอบยางเริ่มเสื่อมสภาพจนแข็งตัวหรือไม่ โดยการวางกระดาษ A4 ระหว่างการปิดฝาประตูตู้เย็น แล้วปิดฝาตู้เย็นให้สนิท จากนั้นทดสอบโดยดึงกระดาษออกด้วยแรงปกติ หากกระดาษสามารถดึงออกได้โดยง่าย แสดงว่าขอบยางนั้นเกิดการเสื่อมสภาพจนแข็งตัว ให้รีบดำเนินการแก้ไขต่อไป
  • หมั่นตรวจสอบช่องแช่แข็ง ไม่ให้มีน้ำแข็งเกาะหนาเกิน 5 มม. หากพบว่ามีน้ำแข็งหนา ให้รีบละลายน้ำแข็งออกให้หมด