ภญ.ปิยะนาถ เชื้อนาคและคณะ (เรียบเรียง)
อ.ศยามล รมพิพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 5

5.7.2 ตัวอย่างเหตุการณ์ฉุกเฉินในระบบลูกโซ่ความเย็น และแนวทางการจัดการ
อ่าน 6292 ครั้ง

“ กระติกวัคซีนที่ขนส่งจากโรงพยาบาลแม่ข่ายถึง รพ.สต. พบว่าอุณหภูมิในกระติกวัคซีนเท่ากับ -5°C ซึ่งมีวัคซีนในกระติกวัคซีน ดังนี้ DTP, DTP-HB และ MMR ”

จะต้องมีแนวทางการจัดการเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างไร

แนวทางการจัดการ

1. การแก้ไข

กรณีที่พบวัคซีนทุกชนิดแข็งตัว

  • แสดงว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย และท็อกซอยด์ (DTP, DTP-HB) นั้นเสื่อมสภาพแล้ว ไม่สามารถใช้ต่อได้
  • ให้แยกวัคซีนดังกล่าวออก ไม่เก็บรวมในตู้เย็น พร้อมทั้งตัดออกจากทะเบียนรับ-จ่ายวัคซีน และทำลายแบบขยะติดเชื้อ
  • รีบแจ้งโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อขอเบิกวัคซีนดังกล่าวมาทดแทน
  • ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (MMR) จะมีความทนต่อความเย็นจัด จึงสามารถใช้ต่อได้ โดยให้รีบนำวัคซีนจัดเก็บที่อุณหภูมิ +2°C ถึง +8°C

กรณีที่วัคซีนทุกชนิดไม่แข็งตัว

  • ต้องทำการทดสอบวัคซีนชนิดเชื้อตาย และท็อกซอยด์ (DTP, DTP-HB) ว่าผ่านการแข็งตัวจากการผ่านการแช่แข็งมาแล้วหรือไม่
  • โดยให้ทำการทดสอบทางกายภาพของวัคซีนดังกล่าวด้วยวิธี Shake test หากผลการทดสอบปรากฏว่า วัคซีนดังกล่าวผ่านการแข็งตัวมาแล้ว แสดงว่าวัคซีนนั้นเสื่อมสภาพแล้ว ไม่สามารถใช้ต่อได้
  • ให้แยกวัคซีนดังกล่าวออก ไม่เก็บรวมในตู้เย็น พร้อมทั้งตัดออกจากทะเบียนรับ-จ่ายวัคซีน และทำลายแบบขยะติดเชื้อ
  • รีบแจ้งโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อขอเบิกวัคซีนดังกล่าวมาทดแทน
  • ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (MMR) จะมีความทนต่อความเย็นจัด จึงสามารถใช้ต่อได้ โดยให้รีบนำวัคซีนจัดเก็บที่อุณหภูมิ +2°C ถึง +8°C กรณีมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มบริหารจัดการวัคซีน กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค

2. การป้องกัน

  • ควรใช้ Conditioned ice-pack มาใช้สำหรับการบรรจุวัคซีน
  • ไม่ควรใช้น้ำแข็ง หรือน้ำแข็งแห้ง (Dry ice) แทน Ice-pack