นพ.ชนินันท์ สนธิไชยและคณะ (เรียบเรียง)
อ.ศยามล รมพิพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 1

1.8 ชนิดของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
อ่าน 47520 ครั้ง

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทำได้ 2 วิธี หลักๆ คือ

  1. การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง (Active immunization)
    หมายถึงการให้แอนติเจนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค หรือแอนติเจนชนิดนั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

    • การเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังการติดเชื้อตามธรรมชาติ (Active naturally acquired immunity) คือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคตามธรรมชาติแล้วสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดนั้น เช่น โรคหัดหลังหายจากการติดเชื้อตามธรรมชาติแล้ว ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจะคงอยู่ได้นานตลอดชีวิต
    • การเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังการให้วัคซีน (Active artificially acquired immunity) คือ การให้วัคซีน หรือ ท็อกซอยด์ (Toxoid) เพื่อป้องกันการเกิดโรค เช่น การให้วัคซีนบีซีจี (BCG) ตั้งแต่แรกเกิดเพื่อป้องกันวัณโรค ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่มีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แล้วไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้แต่จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดนั้นได้
  2. การให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยตรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค (Passive immunization)
    หมายถึงการให้แอนติบอดีเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดนั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

    • การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับภูมิคุ้มกันโดยตรง (Passive naturally acquired immunity) โดยที่ร่างกายไม่ได้สร้างเอง เช่น ภูมิคุ้มกันบางชนิดจะผ่านรกจากแม่ไปสู่ลูกได้ หรือภูมิคุ้มกันจะถ่ายทอดผ่านทาง Colostrum ที่อยู่ในน้ำนมแม่ ซึ่งภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะมีผลคุ้มครองได้ในระยะแรกๆ ของชีวิตแล้วก็หมดไป
    • การเกิดภูมิคุ้มกันจากการได้รับแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Passive artificially acquired immunity) คือ ได้รับซีรั่ม หรือ Gamma globulin จากคนหรือสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว เช่น การฉีด Equine Rabies Immunoglobulin (ERIG) ให้กับผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด หรือการฉีด Antivenom ให้กับผู้ที่ถูกงูพิษกัด