นพ.ชนินันท์ สนธิไชยและคณะ (เรียบเรียง)
อ.ศยามล รมพิพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 1

1.7 VDO Primary and secondary response
อ่าน 12769 ครั้ง

กลไกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายแบ่งออกเป็น Primary and secondary response

เมื่อร่างกายได้รับแอนติเจน หรือวัคซีนเป็นครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองโดยสร้างแอนติบอดี เรียกว่าเป็น Primary response ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับแอนติเจนจนกระทั่งเริ่มมีแอนติบอดีที่ตรวจพบได้ในซีรั่ม เรียกว่า Lag period ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 ถึง 30 วัน หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณแอนติเจน ชนิดของแอนติเจนและทางที่แอนติเจนเข้าสู่ร่างกาย หลังจากผ่าน Lag period จะเป็นช่วงที่ร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่เป็น IgM ซึ่งจะอยู่ได้ระยะหนึ่งแล้วจะมีปริมาณลดต่ำลง อย่างไรก็ตามร่างกายได้จดจำแอนติเจนนี้ไว้แล้ว โดย Memory B cell ดังนั้น เมื่อได้รับแอนติเจนชนิดนี้อีก ร่างกายจะตอบสนองได้รวดเร็วและผลิตแอนติบอดีออกมามากกว่าครั้งแรกมาก แอนติบอดีที่เกิดขึ้นครั้งหลังนี้เรียกว่า Secondary  response ซึ่งจะอยู่นานและมีประสิทธิภาพมากกว่า และเป็นแอนติบอดีชนิด IgG มากกว่า IgM จึงใช้หลักการนี้ในการให้วัคซีนหลายครั้งเพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้นานหลายปี

จากกลไกที่ร่างกายสามารถจดจำแอนติเจนที่ได้รับเข้าไปครั้งแรก ดังนั้น ถ้าเด็กมารับวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดไม่ว่าจะนานเท่าใด ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะเซลล์ที่เคยถูกกระตุ้นไว้แล้วยังอยู่ และยังจำได้ จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันที

แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าให้วัคซีนใกล้กันเกินไป อาจทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะระดับแอนติบอดีในร่างกายที่เกิดจากการได้รับวัคซีนครั้งแรกยังคงสูงอยู่ จึงเข้าไปจับกับแอนติเจนในวัคซีนที่ได้รับเข้าไปใหม่ เกิดภาวะ Neutralization ทำให้แอนติเจนนั้นสูญเสียประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน