ที่มาและจุดประสงค์ของการกำเนิด Guru vaccine
นับแต่พุทธศักราช 2552 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีหลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่งานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคกับคณะสาธารณสุขศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินการหลักคือ ดร.อัญชลี ศิริพิทยาคุณกิจ พร้อมกับได้จัดส่งตำราหลักสูตรฯ กระจายไปยังหน่วยบริการสุขภาพทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกับเผยแพร่หลักสูตรฯดังกล่าวสู่ผู้ปฏิบัติงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคผ่านกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการซึ่งจัดดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 15 รุ่นทั่วประเทศไทย (ข้อมูล ณ พ.ศ.2559)
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่งานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสามารถดำเนินการได้อย่างจำกัด จัดอบรมได้เพียงรุ่นละ 40 คนเนื่องจากเน้นการให้ความรู้คู่กับการฝึกทักษะที่จำเป็นต่างๆ เป็นเหตุให้ยังมีผู้ปฏิบัติงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทยกว่าอีกหมื่นรายในหลากหลายวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดจนการให้วัคซีนในแผนงาน EPI ประกอบกับผู้ปฏิบัติงานก็ปรับเปลี่ยนโยกย้ายงานอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นการยากที่จะทำให้ EPI worker ทุกคนเข้าถึงความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการทำงานได้ อีกทั้งช่วงปีที่ผ่านมามีวัคซีนใหม่ๆ มีการปรับเปลี่ยนตารางแผนงาน EPI ใหม่ จึงก่อให้เกิดคำถามมากมายในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานฯ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสอบถามผ่านนักวิชาการปฏิบัติการด้านวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเวทีประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ที่ประชุมสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและอื่น ๆ อีกมากมาย
Guru vaccine
จึงได้รวบรวมและนำมาพัฒนาเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีที่ EPI Worker จะเข้าถึงได้อย่างง่ายทั้งรูปแบบของ Webpage and Mobile application อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและประสบความสำเร็จใน การป้องกัน กำจัดและกวาดล้างโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเป็นลำดับต้นๆในภูมิภาคเอเซีย กลไกสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างดีนั้น มาจากปัจจัยหลายส่วนประกอบกัน ได้แก่
- กลุ่มผู้ผลิตรวมถึงหน่วยวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ทำการศึกษาวิจัย
- ทำให้เกิดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน
- กลุ่มผู้ให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทีมสุขภาพที่ให้บริการโดยตรงแก่ผู้รับบริการ
- และกลุ่มผู้รับบริการที่มีตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำบุตรหลานมารับวัคซีน ทำให้เกิดความครอบคลุมและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันโรคในระดับชุมชนได้ในที่สุด
เนื้อหาใน 10 เรื่องที่ต้องรู้ที่ถ่ายทอดผ่าน guruvaccine นี้ จะมุ่งให้ความรู้ที่สามารถศึกษาได้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีแก่ผู้ปฏิบัติงานการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
โดยเฉพาะในกลุ่มที่ให้บริการโดยตรง ได้แก่ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกรและนักวิชาการสาธารณสุข อีกทั้งจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล
จุดประสงค์หลักของการพัฒนา E-learning ชุดนี้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลานำไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการแนะนำผู้รับบริการ และแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐานได้ ยังสามารถใช้ในการปูพื้นฐานความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานใหม่และใช้ทดสอบความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานได้
เนื้อหาสำคัญประกอบด้วย 5 module คือ
- รู้จัก-รู้ฤทธิ์
- รู้ชนิด-รู้ติดตาม
- รู้เก็บ-รู้แก้
- รู้วิธีการให้-รู้ดูแล
- รู้ภัย-รู้พร้อม
และในแต่ละ module จะมีแบบทดสอบความรู้หลังเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อวัดผลการเรียนรู้ในเบื้องต้นการพัฒนาเนื้อหาสำคัญในบทเรียนนี้เป็นความรู้ที่ทบทวนจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ตำราต่างๆ
เอกสารของกรมควบคุมโรคและเอกสารหลักสูตรที่พัฒนาโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 -2559 ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้จะไม่ได้กล่าวถึงในบทเรียนดังกล่าวแต่ admin จะทำการ update ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
Guru vaccine
จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามที่กล่าวมา โดยท่านสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด ขอเพียงท่านคือ “ผู้ปฏิบัติงานการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” ไม่ว่าท่านจะเป็น EPI Worker แขนงใดในทุกวิชาชีพ
Guru vaccine
ยินดีต้อนรับทุกท่านเพื่อพัฒนางานของเราไปสู่มาตรฐานงานบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่อไป