วัคซีนเป็นส่วนประกอบของเชื้อโรคและสารเคมีที่จะเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาหรืออาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ การที่จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงนั้น ผู้ให้บริการวัคซีนต้องคัดกรองและซักประวัติตั้งแต่ก่อนที่จะให้วัคซีน ถึงแม้ว่าจะผ่านการคัดกรองเบื้องต้นก็ช่วยลดอันตรายหรือลดความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด เพราะเมื่อได้รับวัคซีนแล้วอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงที่รุนแรงมักพบได้น้อยมาก ฉะนั้นจึงต้อง
สังเกตอาการผู้รับบริการหลังได้รับวัคซีน อย่างน้อย 30 นาที
ปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้น จำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ และปฏิกิริยา
ที่เกิดขึ้นทั้งระบบ ดังนี้
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเฉพาะที่
อาการและอาการแสดง ได้แก่ อาการบวม แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจมีเลือดออกซึม เล็กน้อยและหยุดในระยะเวลาอันสั้น อาการเหล่านี้จะหายไปได้เอง
การจัดการเบื้องต้น หรือคำแนะนำทั่วไป
- ไม่แนะนำให้สัมผัส กดแรง คลึง นวด หรือใช้ยาทาบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- ดูแลความสะอาด สังเกตอาการว่ามีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดหรือไม่ หรือ
มีลักษณะผิดปกติใด ๆ เช่น มีเลือดออกมา มีตุ่มหนอง มีอาการไข้สูงมาก ให้รีบมาพบแพทย์ - หากมีอาการปวด บวม แดง ร้อนมาก สามารถประคบเย็น เพื่อลดอาการปวดได้ หรือรับประทานยาแก้ปวดลดไข้
- หากมีไข้ร่วมด้วยสามารถเช็ดตัวลดไข้ และให้ยาลดไข้โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว คือ 10 mg. / น้ำหนักตัว 1 kg / ครั้ง
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทั้งระบบชนิดไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง
อาการและอาการแสดงชนิดไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้สูงมากกว่า 39°C ซึม เบื่ออาหาร ร้องกวน อาเจียน หรือมีผื่นขึ้นตามตัว
การจัดการและการให้คำแนะนำทั่วไป
- เช็ดตัวลดไข้ พร้อมกับให้ยาลดไข้ทันที
- ให้เด็กดื่มน้ำ ดื่มนมให้มาก ๆ
สังเกตอาการผิดปกติที่แสดงถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทั้งระบบชนิดรุนแรง ได้แก่ อาการไข้แบบ anaphylaxis เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี๊ด มีผื่นขึ้นทั้งตัว มือ เท้า หน้า ปาก บวม หรือมีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ซึม อ่อนแรง ภาวะรู้สติเปลี่ยนแปลง มีอาการชัก
หากพบอาการผิดปกติชนิดรุนแรงให้พามาพบแพทย์โดยทันทีหรือหากพบอาการเบื้องต้นเป็นอาการและอาการแสดงชนิดไม่รุนแรง แต่เมื่อให้การดูแลแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดลง ให้พามา
โรงพยาบาลทันที