หากพบผู้ป่วย AEFI ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- ให้สถานพยาบาลรายงานเหตุการณ์ต่างๆให้กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากวันที่พบผู้ป่วยหรือพบเหตุการณ์ฯ โดยส่งข้อมูลผ่านโปรแกรมฐานข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และแจ้งให้ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team : SAT) ทราบ โดยการเชื่อมโยงการแจ้งเหตุการณ์ที่ต้องติดตามและสอบสวนกับฐานข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ของ SAT สำนักงานป้องกันควบคุมโรค/สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง/กรมควบคุมโรค สถานบริการสาธารณสุข ในเขตกรุงเทพมหานคร แจ้ง SAT สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
- สถานที่ที่ให้บริการ ต้องตรวจสอบชนิดและ lot ของวัคซีนที่ผู้ป่วย/ผู้เสียชีวิตได้รับ ตรวจสอบทะเบียนผู้รับบริการรายอื่นที่ได้รับวัคซีนขวดเดียวกับผู้ป่วย/ผู้เสียชีวิตได้รับ ตรวจสอบทะเบียนผู้รับบริการรายอื่นที่ได้รับวัคซีนต่างขวด แต่ lot no. เดียวกับผู้ป่วย/ผู้เสียชีวิตได้รับ โปรดจำไว้ว่าสถานบริการไม่มีสิทธิ์ระงับวัคซีน
- ติดตามอาการผู้ได้รับวัคซีนขวดเดียวกันและต่างขวดแต่ lot no. เดียวกับผู้ป่วย/ผู้เสียชีวิตได้รับ โดยเร็วและเฝ้าระวังต่อจนครบ 30 วันหลังได้รับวัคซีน ในส่วนของสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ก็ให้ติดตามอาการของผู้รับบริการที่ใช้วัคซีน lot no.เดียวกัน
- การเก็บวัคซีนส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ: เมื่อมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เจ้าหน้าที่จะต้อง ส่งวัคซีนตรวจวิเคราะห์คุณภาพร่วมด้วย ซึ่งควรพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป สามารถปรึกษากองโรคป้องกันด้วยวัคซีน หรือ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในการพิจารณาส่งวัคซีนตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และการเก็บวัคซีนส่งตรวจนั้นต้องส่งตรวจทั้งวัคซีนขวดที่ยังไม่ได้เปิดใช้และขวดเปิดใช้แล้ว
(สำหรับวัคซีนขนาดบรรจุ ขวดละ 1 โด๊ส (Single vial หรือ Prefill syringe) ไม่ต้องกำหนดลำดับที่ขวดวัคซีน และไม่ต้องเก็บขวดวัคซีนที่ใช้แล้วเพื่อตรวจสอบอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทั้งนี้หากเกิด AEFI จะใช้การตรวจสอบคุณภาพวัคซีนที่อยู่ใน Lot number เดียวกัน) - การพิสูจน์ศพ (Autopsy): กรณีเสียชีวิตทุกราย ควรประสานขออนุญาตผู้ปกครองหรือญาติให้มีการผ่าพิสูจน์ศพ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต หากไม่อนุญาต ควรพิจารณาตรวจศพ โดยการเอกซเรย์ และเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น เลือด น้ำไขสันหลัง น้ำในช่องปอด เนื้อเยื่อ เป็นต้น
- สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติของผู้ป่วย AEFI ชุมชน สื่อ และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการวัคซีน ทั้งนี้ ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาให้รับทราบตามลำดับชั้นด้วยเพื่อร่วมกันจัดการแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือข่าวลือ
ประเทศมีคณะกรรมการ AEFI ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากอาการผิดปกติภายหลังการได้รับวัคซีนนั้นต้องมีระบบในการติดตาม เฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยและแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ได้รับบริการวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสรุปผลว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากวัคซีนหรือไม่ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูล และพิสูจน์หลักฐานอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการประชุมพิจารณาผลหลังจากได้ดำเนินการเฝ้าระวังและสอบสวนทางระบาดวิทยาเรียบร้อยแล้ว ระบบดังกล่าวนี้เป็นการสร้างความมั่นใจต่อผู้รับบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ถึงความปลอดภัยภายหลังได้รับบริการวัคซีน รวมถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิตวัคซีนและผู้ให้บริการ