ดร.อัญชลี ศิริพิทยาคุณกิจและคณะ (เรียบเรียง)
ผศ.ดร.ปรีย์กมล รัชนกุล คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 7

7.4.3 สาเหตุจากความคลาดเคลื่อนด้านการให้บริการ (Immunization error related reaction)
อ่าน 6215 ครั้ง

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการและวิธีการให้วัคซีน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากตัววัคซีนเอง เช่น เกิดจากการเก็บรักษาหรือการขนส่งวัคซีน หรือการเตรียมหรือการฉีดวัคซีนไม่เหมาะสม โดยอาจจะเกิดอาการเพียงรายเดียวหรือเป็นกลุ่มก้อน (cluster) ซึ่งมักพบว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการวัคซีน หรือการได้รับวัคซีนจากขวดเดียวกัน โดยการเตรียมที่ไม่ถูกต้องหรือมีเชื้อปนเปื้อน ความคลาดเคลื่อนอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ความคลาดเคลื่อนที่พบบ่อย ได้แก่

  • การให้วัคซีนมากเกินขนาดที่แนะนำ
  • การฉีดวัคซีนผิดวิธีหรือผิดตำแหน่ง เช่น นำ OPV มาฉีด หรือเอา BCG มาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การฉีดวัคซีนผิดตำแหน่ง เข้าไปในชั้นผิวหนังที่ไม่ถูกต้องก็จะทำให้เกิดฝีไร้เชื้อหรือเป็นไตแข็งได้ การฉีดเข้าในตำแหน่งที่ไปถูกเส้นประสาทต่างๆก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท และวัคซีนก็จะไม่สามารถออกฤทธิ์ในการสร้างภูมิคุ้มกันได้
  • ใช้ตัวทำละลายวัคซีนผิดชนิด หรือปริมาณไม่ถูกต้อง
  • เตรียมวัคซีนไม่ถูกต้อง เช่น ไม่เขย่าให้วัคซีนละลายดีก่อนฉีด การเตรียมวัคซีนที่มีการปนเปื้อน การใช้น้ำยาทำละลายผิดประเภท การเตรียมวัคซีนไว้ใน syringe เป็นเวลานานและนำมาฉีด การนำวัคซีนที่ผสมไว้นานเกินไปมาฉีด เข็มและกระบอกฉีดยาไม่ปลอดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น เกิดฝี หรือเนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ เกิด Toxic shock syndrome และติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางกระแสเลือด เช่น ตับอักเสบบีและซี, HIV นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่จากการที่วัคซีนเป็นตะกอนหรือนำวัคซีนที่หมดอายุแล้วมาฉีด เป็นต้น
  • วิธีทำให้ปราศจากเชื้อไม่เหมาะสม เช่น วัคซีนหรือตัวทำละลายมีการปนเปื้อน
  • เก็บรักษาวัคซีนไม่เหมาะสม การเคลื่อนย้ายวัคซีนไม่เหมาะสม การขนส่งวัคซีนที่ทำให้ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิใน cold chain system ได้ จะทำให้วัคซีนเกิดการเสื่อมสภาพ ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ซึ่งได้กล่าวโดยละเอียดแล้วในหมวดเนื้อหาที่ 5
  • การละเลยในรายที่มีข้อห้าม จากที่ได้เรียนในหมวดเนื้อหาที่ 6 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ให้บริการต้องประเมินความพร้อมของผู้รับบริการ โดยเฉพาะสภาพร่างกาย ความเจ็บป่วย การรักษาที่ได้รับและประวัติการแพ้ที่สำคัญต่างๆ ก่อนให้วัคซีน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการมีความระมัดระวังและเป็นการป้องกันความผิดพลาดได้ ทำให้ไม่เกิด AEFI ในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงได้
  • ใช้วัคซีนที่ผสมแล้วเกินระยะเวลาที่กำหนด