คำถามต่อไปนี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าผู้มารับวัคซีนควรได้รับวัคซีนในวันนี้หรือไม่ คำตอบ “ใช่” ไม่ได้หมายความว่า ผู้รับบริการไม่ควรได้รับวัคซีน หากพบว่ามีคำตอบ “ใช่” ให้ผู้รับบริการซักประวัติและประเมินอาการเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนการให้วัคซีน
1. ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
สอบถามรายละเอียดของอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของภาวะเบี่ยงเบนทางสุขภาพหากพบว่ามีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ไอ มีไข้ต่ำๆ รับประทานยาปฏิชีวนะอยู่แต่ใกล้หมดแล้วและอาการปกติดี ก็สามารถให้รับวัคซีนได้ อย่างไรก็ตามควรสังเกตอาการผิดปกติเพิ่มเติมร่วมกับการซักประวัติด้วย และต้องตรวจร่างกายประกอบการพิจารณาความรุนแรงของการเจ็บป่วยนั้น
2. ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตหรือประวัติการเป็นโรคเรื้อรัง
สอบถามประวัติการเจ็บป่วย การเกิดอาการกำเริบ การรักษาที่ได้รับในปัจจุบันและการควบคุมอาการเจ็บป่วย พร้อมกับตรวจสอบข้อมูลในประวัติการรักษาที่บันทึกไว้ในทะเบียนประวัติสุขภาพพร้อมกับตรวจร่างกายผู้รับบริการในเบื้องต้นอย่างละเอียด เรื่องนี้มักจะถูกละเลยในการให้บริการวัคซีนที่โรงเรียน ข้อมูลนี้มีความสำคัญมากในการให้วัคซีนเชื้อเป็นชนิดอ่อนฤทธิ์ หากผู้ปกครองไม่สามารถให้ข้อมูลได้ควรแนะนำให้ไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลมาประกอบการตัดสินใจ ผู้ให้บริการสามารถแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนในหน่วยบริการที่มีกุมารแพทย์ได้
การเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคที่ทำให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายต่ำที่ได้รับอิมมุโนโกลบูลิน โรคเลือดที่ต้องได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือด โรคมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาหรือเคมีบำบัด โรคไตที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคทางระบบประสาทที่ได้รับยากันชักหรือมีอาการกำเริบ หรือผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ที่มีค่า CD4 ต่ำกว่า 15% ผู้รับบริการกลุ่มนี้ต้องการการซักประวัติเจาะลึก ที่เกี่ยวกับอาการและอาการแสดง ระยะเวลาการรับยาหรือรับเลือด รับการรักษา เพราะจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
3. ประวัติการแพ้สารต่างๆ/ประวัติการแพ้วัคซีนหรืออาการผิดปกติหลังได้รับวัคซีน
การซักถามถึงอาการแพ้ควรซักถามให้ได้รายละเอียดถึงระดับความรุนแรงของอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้สารต่างๆ แพ้ยา หรือแพ้วัคซีนก็ตาม ถ้าการแพ้เป็นเพียงปฏิกิริยาเบื้องต้น เช่นอาการผื่นคันทั่วร่างกาย ก็ยังสามารถให้วัคซีนชนิดนั้นๆได้ ถ้ามีผื่นขึ้นหลังรับประทานไข่ขาวก็ยังสามารถให้วัคซีน MMR หรือ influenza ได้ถึงแม้จะมีส่วนประกอบของไข่ขาวในการผลิตวัคซีนก็ตาม
4. ประวัติการเกิดอาการทางสมอง
ถ้ามีอาการทางสมอง (Encephalopathy) หรือชักจากความผิดปกติทางระบบประสาท ภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน ให้งดการรับวัคซีนชนิดเดียวกับที่เคยได้รับ
5. ประวัติการตั้งครรภ์
หากมีการตั้งครรภ์ให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายได้ แต่ไม่ให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
6. ประวัติการได้รับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ครั้งที่ผ่านมา
การได้รับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ครั้งที่ผ่านมาไม่ถึง 28 วัน ซึ่งถ้าระยะห่างน้อยกว่า 28 วันจะไม่สามารถให้วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ในครั้งนี้ได้