ภญ.ปิยะนาถ เชื้อนาคและคณะ (เรียบเรียง)
อ.ศยามล รมพิพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 5

5.4.10 เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer)
อ่าน 13240 ครั้ง

เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer)

คืออุปกรณ์ที่ใช้วัดอุณหภูมิ ซึ่งควรเป็นชนิดที่วัดอุณหภูมิได้ทั้งค่าบวก ค่าลบ (ประมาณ -30°C ถึง +50°C) ได้แก่ Bimetal vaccine thermometer,   Dial thermometer และStem thermometer โดย Bimetal vaccine thermometer และDial Thermometer จะมีความแม่นยำ (Accuracy) ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงควรนำไปสอบเทียบ (Calibration) โดยหน่วยงานมาตรฐาน เช่น ศูนย์วิศวกรรมการแพทย์ หรือเทียบเคียงกับเทอร์โมมิเตอร์ที่สอบเทียบแล้ว หรือกับ Stem Thermometer โดยการนำไปวางไว้ด้วยกันเพื่อวัดอุณหภูมิทั้งในและนอกตู้เย็น ซึ่งควรทำอย่างน้อยปีละครั้ง โดยส่วนใหญ่ Stem Thermometer จะมีความแม่นยำมากกว่าเทอร์โมมิเตอร์ดังกล่าว

การเทียบเคียงเทอร์โมมิเตอร์ ให้นำเทอร์โมมิเตอร์ที่ต้องการจะเทียบเคียงไปวางไว้ในตำแหน่งเดียวกับเทอร์โมมิเตอร์ที่ได้รับการสอบเทียบแล้วทั้งในและนอกตู้เย็น โดยวางไว้ในแต่ละตำแหน่งเป็นเวลา อย่างน้อย 30 นาที และบันทึกค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิที่อ่านได้จากเทอร์โมมิเตอร์ เมื่อเทียบเคียงกับเทอร์โมมิเตอร์ที่ได้รับการสอบเทียบแล้ว โดยบันทึกวันที่เทียบเคียงไว้ด้านหลังเทอร์โมมิเตอร์นั้น ทั้งนี้ ค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิที่บันทึกไว้จะต้องนำมาบวกเพิ่ม หรือลบออกด้วยทุกครั้งที่อ่านอุณหภูมิจากเทอร์โมมิเตอร์เครื่องนั้น ๆ

Digital Thermometer

เป็นเทอร์โมมิเตอร์ที่มีจอแสดงค่าที่วัดได้ บางรุ่นจะแสดงอุณหภูมิสูงสุด/ ต่ำสุด และมีสัญญาณเตือน (Alarm) ที่ดังขึ้นตามค่าที่ตั้งไว้ บางรุ่นมี Probe เป็นสายยาวที่นำไปใส่ในตู้เย็น แล้วสามารถอ่านอุณหภูมิจากหน้าจอของเทอร์โมมิเตอร์ที่วางอยู่นอกตู้เย็นได้