คำถามที่พบบ่อย (รู้ภัย-รู้พร้อม)
1. เพราะเหตุใดการเกิด AEFI จึงเกิดขึ้นเฉพาะในบางคนเท่านั้น ?
– การที่ทุกคนที่ได้รับวัคซีนมีการเกิดอาการภายหลังที่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) ในบางคนเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่เกิดจากการผลิตวัคซีนแต่ละชนิด เช่นส่วนประกอบที่นำมาใช้ ตัวเชื้อ สารเพิ่มประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ยาปฏิชีวนะที่ผสมอยู่ในวัคซีน ร่างกายของมนุษย์แต่ละคนอาจ sensitive ต่อสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดพลาดใน การบริหารจัดการวัคซีน เช่นเก็บรักษาวัคซีนที่ผิดวิธี การให้วัคซีนผิดวิธีหรือละเลยไม่ระวังในรายที่มีข้อห้าม ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อร่างกายขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นแต่ละคนอาจเกิดความกลัวในระดับที่แตกต่างกันทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อความกลัวที่แตกต่างกัน และยังมีสาเหตุอีกประการหนึ่งที่บุคลากรทีมสุขภาพอาจลืมไป นั้นคือการเกิดเหตุการณ์พ้อง ผู้ที่รับวัคซีนอาจมีความเจ็บป่วยหรือตดเชื้อในร่างกายอยู่เดิม และอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับการได้รับวัคซีนพอดี ก็อาจทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาที่รุนแรงได้
2. วัคซีนทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน (AEFI) ได้จริงหรือ มีข้อยกเว้นในกรณีใดบ้างหรือไม่ ?
– วัคซีนทุกชนิดสามารถทำให้เกิด AEFI ได้ทั้งสิ้นทั้งนี้เนื่องจากการเกิด AEFI ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียวจากที่ได้กล่าวไปแล้วในบทเรียน ดังนั้นผู้ให้บริการทุกคนต้องระมัดระวังในการบริหารวัคซีนและยังต้องให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลผู้รับบริการเกี่ยวกับอาการที่ควรกลับมาโรงพยาบาลหรือมารายงานให้หน่วยบริการทราบเพื่อแก้ไขอาการและติดตามผู้รับบริการรายอื่นๆต่อไป
3. อาการผิดปกติหลังได้รับวัคซีนมีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อยจนถึงรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันอาการเพียงเล็กน้อยก็จะไม่ได้รายงาน อาการแบบไหนจำเป็นต้องมีการรายงาน หรือถือว่าเกิด AEFI แล้ว ?
– ปกติมีการแบ่งกลุ่มการรายงานออกเป็น 2 ลักษณะคือ กลุ่มอาการที่ต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมง และกลุ่มอาการที่ต้องรายงานภายใน 1 สัปดาห์ ในกลุ่มแรกเช่น การแสดงอาการทางระบบประสาท กลุ่มอาการแพ้ การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเกล็ดเลือดต่ำมาก ในกลุ่มรายงาน 1 สัปดาห์ เช่น การเกิด local reaction เช่น ฝีบริเวณที่ฉีด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ชัก เป็นต้น อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะมีอาการและอาการแสดงในกลุ่มใด หากพบผู้ป่วยมากกว่า 2 รายขึ้นไป (cluster) ที่มีอาการเดียวกัน มีความสัมพันธ์กันด้านวัคซีน (เวลารับวัคซีน สถานที่รับวัคซีน) หรือมีกรณีเสียชีวิตต้องรีบรายงานทันที
4. หากพบว่าในพื้นที่มี AEFI หน่วยบริการต้องทำอย่างไร ?
– สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรายงาน โดยปกติผู้ให้บริการกลัวเกิดความยุ่งยากหลังจากรายงานและต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค แต่ประเด็นนี้ถือเป็นจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน การรายงานที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดการเฝ้าระวังและการแก้ไขได้ทันท่วงที ไม่ให้ผู้อื่นเกิดความเสี่ยงรุนแรง ในการให้บริการหน่วยบริการจำเป็นต้องมีการบันทึกรายละเอียดของผู้รับบริการ และการบริการอย่างชัดเจน ตรวจสอบ สืบค้นได้ ต้องทราบว่าผู้รับวัคซีนที่ใช้วัคซีนร่วม lot และร่วมขวด มีใครบ้าง จำนวนกี่ราย และสามารถติดต่อเพื่อทำการติดตามอาการได้อย่างน้อย 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ขวดวัคซีนที่ให้บริการต้องเก็บไว้อย่างถูกต้อง ไม่ปนเปื้อน ในอุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์
5. การระงับการใช้วัคซีนเป็นหน้าที่ของใคร หากหน่วยบริการพบ AEFI รุนแรงเกิดขึ้น สามารถระงับการใช้วัคซีนชนิดนั้นได้เลยหรือไม่ ?
– การระงับใช้วัคซีนไม่สามารถทำได้ในหน่วยบริการ ต้องมีประกาศอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะโดยแท้จริงแล้ว การเกิดอาการต่างๆนั้นจำเป็นต้องได้รับการยืนยันว่าเกิดจากวัคซีนแน่ๆจึงจะระงับการใช้ การตัดสินใจที่ผิดพลาดจะนำไปสู่ความตื่นตระหนกในชุมชน และอาจทำให้เกิดความกลัวต่อวัคซีน คนในชุมชนไม่พาลูกหลานมารับวัคซีน ซึ่งสามารถนำไปสู่การระบาดของโรคในพื้นที่ได้ในที่สุด
6. หน่วยบริการควรมีการเตรียมการอย่างไรในการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง ?
– โดยมาตรฐานของหน่วยบริการแล้ว ควรมีการเตรียม adrenaline ไว้ในหน่วยบริการเพื่อให้สามารถใช้ได้ทันท่วงที โดยการให้ adrenaline 1:1000 (0.01 mg/kg/dose) สามารถให้ได้โดยคำนวณตามน้ำหนักของผู้รับบริการ ปกติก็จะฉีดข้างที่ไม่ได้รับวัคซีนเข้าทางกล้ามเนื้อ หากต้องการให้เสริม สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังรอบๆบริเวณที่ฉีดวัคซีนได้โดยใช้ขนาดครึ่งหนึ่งที่คำนวณได้ อย่างไรก็ดี มาตรฐานการบริการที่ควรถือปฏิบัตินั่นคือการเน้นย้ำให้ผู้รับบริการอยู่เผ้าดูอาการ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน หากไม่พบความผิดปกติก็สามารถกลับบ้านได้