คำถามที่พบบ่อย (รู้วิธีการให้-รู้ดูแล)
1. ใครที่มีสิทธิในการให้วัคซีนตามขอบเขตของกฎหมาย ?
– ผู้ที่ให้วัคซีนได้ต้องมีกฎหมายวิชาชีพคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบัน คือวิชาชีพแพทย์และพยาบาล (ต้องมีใบประกอบวิชาชีพฯที่เป็นปัจจุบัน) โดยแพทย์สามารถให้วัคซีนทุกชนิดได้ แต่วิชาชีพพยาบาลสามารถให้วัคซีนพื้นฐานได้ หากต้องการให้วัคซีนทางเลือกต้องมีคำสั่งการรักษา จึงจะสามารถให้ได้ ในทางปฏิบัติจริงหากมอบหมายให้นักวิชาการสาธารณสุขเป็นผู้ให้วัคซีน จำเป็นต้องมีความชัดเจนว่าอยู่ภายใต้การดูแลของใคร ไม่สามารถกระทำด้วยตนเองโดยอิสระได้ ถือว่าผิดกฎหมาย
2. การให้วัคซีนในโรงเรียนจำเป็นต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษบ้าง ?
– การให้วัคซีนในโรงเรียนหรือการให้วัคซีนรณรงค์จัดเป็นการให้วัคซีนในคนหมู่มาก โอกาสที่จะละเลยมาตรฐานการบริการบางประการเป็นไปได้ง่ายมากเมื่อเทียบกับการให้บริการในหน่วยบริการ
เช่นการซักประวัติข้อห้ามการได้รับวัคซีน การประเมินสภาพร่างกาย/การซักประวัติที่จำเป็น โดยเฉพาะถ้าให้วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ซึ่งมีข้อควรระวังหลายประการ เช่นประวัติการได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน การได้รับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่น้อยกว่า 28 วัน เป็นต้น
นอกจากนี้การให้วัคซีนนอกสถานที่ต้องมั่นใจว่าการเก็บรักษาวัคซีนสามารถอยู่ในระบบลูกโซ่ความเย็นได้ และที่สำคัญต้องจัดที่นั่งให้ผู้รับบริการนั่งขณะฉีดวัคซีนและมีฉากกั้นเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากความกลัววัคซีนและการเกิดอุปาทานหมู่
3. วัคซีนโรต้ากับโปลิโอสามารถให้ในวันเดียวกันได้หรือไม่ ?
– สามารถให้ได้ในครั้งเดียวกัน วัคซีนทั้งสองชนิดเป็นวัคซีนที่ใช้รับประทาน สามารถหยอดโปลิโอและป้อนวัคซีนโรต้าตามได้
4. เพราะเหตุใดจึงห้ามฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ?
– สะโพกเป็นบริเวณที่มีชั้นไขมันหนา มีโอกาสที่วัคซีนจะเข้าไปไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกและเด็กเล็ก การเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าขาจะดีกว่า เพราะเด็กมีการเคลื่อนไหวของแขนขามาก อีกทั้งการฉีดเข้าบริเวณสะโพกจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของ sciatic nerve ได้ จึงห้ามให้วัคซีนที่สะโพก
5. ฉีดวัคซีนแล้ว เกิดไตแข็ง มีสาเหตุมาจากอะไรและเมื่อเป็นแล้วต้องแก้ไขอย่างไร ?
– การเกิดไตแข็ง (ฝีไร้เชื้อ) เกิดจากการฉีดวัคซีนชนิดที่มีสารดูดซับเข้าไปไม่ลึกพอถึงชั้นกล้ามเนื้อ วัคซีนค้างอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง หากพบไม่จำเป็นต้องทำอะไร ต้องปล่อยให้วัคซีนดูดซึมไปทีละน้อย ในอีกทางหนึ่งหากพบว่าเป็นฝีหนอง แสดงว่าเกิดการปนเปื้อนของเชื้อขณะเตรียมหรือให้วัคซีน
6. หากดูดวัคซีนจากขวดแล้วพบว่าไม่ครบ dose สามารถไปดูดจากขวดที่มี lot number เดียวกันมาเติมให้ครบ dose ได้หรือไม่ ?
– ไม่ได้ ต้องเปลี่ยน set ใหม่ทั้งหมด
7. หลักการพิจารณาเลือกฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อบริเวณหน้าขา และบริเวณต้นแขน และการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังบริเวณหน้าขา และต้นแขน มีหลักการอย่างไร ?
- ชั้นกล้ามเนื้อ สามารถฉีดบริเวณ vastas lateralis ตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี และเริ่มฉีดบริเวณ deltoid ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป
- ชั้นใต้ผิวหนัง สามารถฉีดบริเวณหน้าขาได้ตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี และเริ่มฉีดบริเวณ tricep ที่ต้นแขน ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี
8. ถ้าฉีดวัคซีนไปแล้วพบว่าเข็มกระทบกับกระดูก ควรทำอย่างไร ?
– ให้ถอยเข็มขึ้นมาเล็กน้อยและทดสอบดูว่ามีเลือดย้อนขึ้นมาหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถดันวัคซีนเข้าไปได้เลย แต่ถ้าพบว่ามีเลือดให้เปลี่ยน set และเปลี่ยนบริเวณที่ฉีดใหม่
9. การฉีดวัคซีนจำเป็นต้องทดสอบก่อนดันวัคซีนเข้าไปหรือไม่ ?
– หากกูตาม protocol ของ WHO จะพบว่าไม่จำเป็นต้องทดสอบ แต่ในทางปฏิบัติ การฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังไม่จำเป็นต้องทดสอบจะช่วยลดความเจ็บได้ด้วย ส่วนการฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อยังควรจำเป็นต้องทดสอบ เพราะฉีดเข้าไปชั้นลึก
10. บางตำราบอกให้ใช้น้ำเกลือเช็ดบริเวณที่ฉีด BCG แต่ในทางปฏิบัติยังพบว่ามีการเช็ด alcohol ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ?
– ปกติการฉีด BCG ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ให้ใช้น้ำเกลือเช็ด แต่การใช้ alcohol เช็ดก็ไม่ผิด สามารถทำได้ แต่ก่อนฉีดต้องมั่นใจว่าผิวหนังบริเวณนั้นแห้งดีแล้ว การที่ยอมให้ใช้ alcohol ได้เนื่องจากอากาศในประเทศไทยเป็นอากาศร้อนชื้น ผิวหนังอาจจะไม่สะอาดได้จึงสามารถใช้ alcoholได้