5.4 เทคนิคการฉีดวัคซีน
อ่าน 348541 ครั้ง

prevaccinegive

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการฉีดวัคซีนมี 3 แบบ คือ

  • Intradermal (เข้าชั้นในหนัง)
  • subcutaneous (เข้าชั้นใต้หนัง)
  • Intramuscular (เข้าชั้นกล้ามเนื้อ)

ก่อนที่จะลงรายละเอียดถึงเทคนิควิธีการฉีดนั้น อยากให้ผู้ให้บริการวัคซีนได้ทราบว่าวิธี/เทคนิควิธีการฉีดนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วัคซีนเข้าสู่ร่างกายและมีการดูดซึม รวมทั้งมีการกระจายตัวของวัคซีน ทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด หลักปฏิบัติโดยทั่วไปก่อนที่จะฉีดต้องยึดหลักการบริหารวัคซีนอย่างเคร่งครัด เมื่อตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมที่จะฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย เทคนิคการฉีดแต่ละแบบ มีดังนี้ ภาพการวางตำแหน่งเข็มและความลึกของการแทงเข็ม

(สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2547)

1. การฉีดวัคซีนเข้าในหนัง (Intradermal)

เป็นการนำวัคซีนผ่านเข้าไปเพียงแค่ในหนังเท่านั้น ขนาดวัคซีนที่ฉีดมีปริมาณน้อย
จึงควรใช้เข็มเบอร์ 26 ความยาว ½ นิ้ว ห้ามใช้ syringe ที่เปลี่ยนหัวเข็มไม่ได้ และเนื่องจากวัคซีนที่ฉีดเข้าในหนังเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น หากใช้แอลกอฮอล์เช็ด ต้องรอให้แห้งก่อนจึงจะฉีด โดยจัดท่าเด็กให้นิ่งและมั่นคงที่สุด เพราะการฉีดเข้าในหนังต้องอาศัยความชำนาญและความนิ่งมากที่สุด เทคนิคการฉีดควรดึงหนังบริเวณที่ฉีดให้ตึง ค่อย ๆ แทงเข็มลงไปทำมุมประมาณ 15 องศา แล้วดันวัคซีนเข้าไป ถ้าเทคนิคถูกต้องจะเห็นว่าเมื่อดันวัคซีนเข้าไปจะมีตุ่มนูนขึ้นมาให้เห็นชัด ต้องให้มือนิ่งมากที่สุด เพราะวัคซีนอาจรั่วซึมออกมาได้หากปลายเข็มแทงทะลุออกมานอกผิวหนัง บริเวณที่ฉีดวัคซีน BCG มักฉีดเข้าที่หัวไหล่ข้างซ้าย (ดังภาพ)

Intradermal01
ภาพการวางตำแหน่งเข็มและความลึกของการแทงเข็มฉีดเข้าในหนัง

2. การฉีดวัคซีนเข้าใต้ชั้นผิวหนัง (Subcutaneous)

เป็นการนำวัคซีนผ่านเข้าไปใน fatty tissue อยู่ใต้ชั้นผิวหนังและอยู่เหนือชั้นกล้ามเนื้อ ปกติแล้ว subcutaneous tissue พบได้ทั่วร่างกาย สำหรับเด็กเล็ก บริเวณที่นิยมให้วัคซีน คือ บริเวณหน้าขา และถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ก็จะใช้บริเวณ upper outer triceps ของแขน ก่อนฉีดเช็ดบริเวณผิวหนังด้วยแอลกอฮอล์ พื้นที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 3 นิ้ว แล้วจึงแทงเข็มเข้าไปขนาดเข็มและความยาวของเข็ม : ใช้เข็มเบอร์ 26 ความยาว ½ นิ้ว

เทคนิค : ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ดึงผิวหนังขึ้นมา จะรู้สึกได้ว่าจับในส่วนของชั้นไขมันขึ้นมา แทงเข็มทำมุม 45 องศา และดันวัคซีนเข้าไป เมื่อฉีดเสร็จให้ใช้สำลีแห้งกดเบา ๆ บริเวณที่ฉีดสักครู่ หรือใช้สำลีแห้งติด พลาสเตอร์ บอกผู้ปกครองว่าทิ้งไว้สักครู่ก็สามารถดึงออกได้ (แสดงดังภาพ)

Subcutaneous01
ภาพตำแหน่งของเข็มและความลึกของเข็มในชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous route)

Subcutaneous02
ภาพบริเวณที่ฉีดยาเข้าในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณแขน

3. การฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อ (Intramuscular)

เป็นการนำวัคซีนเข้าสู่ muscle tissue ซึ่งเป็นชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังและ fatty tissue ดังแสดงในภาพที่ 6.13 บริเวณที่ใช้ในการฉีดวัคซีน เข้ากล้ามเนื้อมี 2 แห่ง คือ บริเวณกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า( vastus lateralis) และ บริเวณกล้ามเนื้อ ต้นแขน (deltoid)

Intramuscular01
ภาพแสดงตำแหน่งของเข็มและความลึกของเข็มในชั้นกล้ามเนื้อ (Intramuscular route)

  • สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด หรือถึงก่อนเข้าวัยเรียน สามารถฉีดวัคซีนบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า( vastus lateralis) ซึ่งจะอยู่บริเวณต้นขาหน้าขาด้านนอกก่อนฉีดจะต้องทำการวัดก่อน โดยแบ่งบริเวณตั้งแต่ปุ่มกระดูกใหญ่ของกระดูกต้นขา (greater tronchanter of femur) ถึง ปุ่มกระดูกบริเวณหัวเข่า (lateral femoral condyle) เป็น 3 ส่วน ฉีดส่วนที่ 2 (ดังภาพ)
  • สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ การให้วัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อ มักจะฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อ ต้นแขน (deltoid) ดังแสดงในภาพ
  • ขนาดเข็มและความยาวของเข็ม : ใช้เข็มเบอร์ 25 ความยาว 1 – 1.5 นิ้ว ขึ้นกับความหนาของผิวหนังและชั้นไขมันของผู้รับวัคซีน
  • เทคนิค : เช็ดแอลกอฮอล์ ใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้กดบริเวณที่ฉีดให้ตึง แทงเข็มทำมุม 90° และดันวัคซีนเข้าไป (ควรทดสอบก่อนดันวัคซีนเข้าไปทุกครั้ง) การฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อต้องพิจารณาขนาดความยาวของเข็มให้แน่ใจว่าเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อจริง ๆ ดังนั้นการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับขนาดรูปร่างของผู้รับวัคซีน เมื่อ ฉีดวัคซีนเสร็จใช้สำลีแห้งกดบริเวณที่ฉีด หรือใช้พลาสเตอร์ปิดโดยกดเล็กน้อย

Intramuscular02
แสดงบริเวณที่ฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ

Intramuscular03
ภาพการวัดก่อนฉีดวัคซีน ฉีดส่วนที่ 2 คือส่วนตรงกลาง

Intramuscular04
ภาพการฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อ การฉีดวัคซีนบริเวณกล้ามเนื้อแขน (deltoid)

 

3waytoTakeaShot

»