การเตรียมให้วัคซีน สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติคือ
- ใช้หลัก right drug, right dose, right time, right person, right route, right method, right technique, etc.
- ตรวจสอบสภาพของวัคซีนที่จะให้และวันหมดอายุ ถ้าไม่ได้ระบุวันที่ให้ใช้ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ระบุไว้ รวมทั้งเครื่องหมาย VVM ที่ขวด (ถ้ามี) วัคซีนที่เป็นตะกอนแยกชั้น ผสมแล้วไม่ละลาย สภาพขวดวัคซีนผิดปกติ สีที่เครื่องหมาย VVMแสดงถึงความผิดปกติ เปิดทิ้งไว้นานกว่าที่กำหนดให้ใช้ได้ จะไม่นำวัคซีนนั้นมาใช้
- การจัดท่าเด็กที่เหมาะสมและการอธิบายเพื่อลดความกังวลของผู้ปกครองและผู้รับบริการ หากเป็นการให้บริการในเด็กนักเรียนต้องจัดที่นั่งให้ ในขณะที่เตรียมจัดท่าเด็ก ควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับการได้รับวัคซีนของเด็กในวันนี้ การเลือกบริเวณที่ฉีด การให้ความมั่นใจในความปลอดภัย รวมทั้งการดูแลภายหลังที่ได้รับวัคซีน เนื่องจากเมื่อเด็กได้รับวัคซีนแล้ว จะร้องไห้ งอแง ทำให้ผู้ปกครองกังวลกับเด็ก ขาดสมาธิในการรับฟังข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์
- ห้ามดูดวัคซีนใส่ syringe รอไว้ให้บริการ
- ห้ามใช้น้ำยาทำละลายของวัคซีนตัวอื่นมาทดแทน ใช้น้ำยาทำละลายสำหรับวัคซีนขนิดนั้นๆเท่านั้น
- ผู้ให้บริการต้องความรู้และทักษะการนำวัคซีนเข้าร่างกายในแต่ละทางอย่างถูกต้อง
- ตรวจสอบชนิดของวัคซีนที่จะให้กับใบสั่งการรักษา
- ขวดยาที่เป็น vial ขวดใหม่ทุกขวด ก่อนใช้จะแกะฝาพลาสติกออก ต้องใช้สำลีแอลกอฮอล์เช็ดที่จุกยางและรอให้แห้งก่อนแทงเข็มดูดยาลงไป ตามขนาดการใช้ของวัคซีนแต่ละชนิด โดยคำนึงถึงเทคนิคปลอดเชื้ออย่างเคร่งครัด
- ในขวดที่วัคซีนใกล้จะหมด หากดูดวัคซีนออกมาแล้วไม่ครบ dose ให้ทิ้งไป แล้วเตรียมใหม่ ห้ามดูดขวดใหม่เพื่อเติมปริมาณให้ครบ dose
- ในกรณีที่เป็นวัคซีนชนิดบรรจุขวดละหลายโด๊ส ใช้เข็มเบอร์ 21- 25 ดูดวัคซีนใส่ syringe ตามปริมาณที่ต้องการ (ในกรณีวัคซีน 2 โด๊ส การใช้เข็มใหญ่อาจทำให้วัคซีนค้างในเข็มจนปริมาณไม่พอฉีด) และเปลี่ยนเข็มเป็นเข็มฉีดก่อนที่จะฉีดทุกครั้ง สำหรับเข็มที่ใช้ดูดวัคซีนชนิดใดแล้วห้ามนำไปใช้ดูดวัคซีนชนิดอื่นๆ โดยเด็ดขาด
- หากวัคซีนเป็นชนิดผงและผสมน้ำยาทำละลาย ควรดูดน้ำยาทำละลายให้หมดขวดแล้วผสมในขวดวัคซีน ต้องเขย่าขวดให้แน่ใจว่าน้ำยาทำละลายกับผงวัคซีนรวมเป็นเนื้อเดียวกัน จึงค่อยนำวัคซีนมาใช้
- การดูดน้ำยาทำละลายวัคซีน MMR ให้ดูดหมดขวดถึงแม้ว่าจะเกิน 0.5 มล. และเมื่อผสมกับผงวัคซีนอาจมีปริมาณ 0.6-0.7 มล. เมื่อนำวัคซีนฉีดให้ผู้รับบริการ ต้องใช้ให้หมด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้รับบริการได้รับวัคซีนไม่ครบ dose
- จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่าการนวดคลึงบริเวณที่ฉีดก่อนที่จะฉีดวัคซีน การทายาชา การเบี่ยงเบนความสนใจโดยใช้ของเล่น การให้ดูดนมแม่ ก่อน ระหว่าง และหลังฉีด การจัดท่าที่เหมาะสม และอยู่ใกล้ชิดผู้ปกครอง และการฉีดยาให้เร็วโดยไม่ต้องทดสอบ (no aspiration) จะช่วยให้ระดับความเจ็บปวดของเด็กลดลง และกรณีที่มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 1 ชนิดควรเลือกวัคซีนทีเจ็บมากที่สุดฉีดที่หลัง เช่น MMR เป็นต้น