หน้าหลัก » บทเรียน » รู้วิธีการ(ให้) - รู้ดูแล » 5.1 การซักประวัติและการคัดกรอง

5.1 การซักประวัติและการคัดกรอง
อ่าน 15852 ครั้ง

สิ่งจำเป็นที่สุดคือหน่วยงานต้องมีแบบคัดกรองที่มีข้อมูลสำคัญครอบคลุมที่จะจำแนกได้ว่าผู้รับบริการรายใดสามารถรับวัคซีนได้หรือรับไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับบริบทของหน่วยบริการ ข้อมูลสำคัญที่ควรประเมินได้แก่

  • อาการเจ็บป่วยเฉียบพลันในปัจจุบัน
  • การมีโรคประจำตัวร้ายแรงมีอาการกำเริบ หรือเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประวัติการเกิดอาการผิดปกติเช่น อาการทางสมอง อาการชัก เป็นต้น
  • ประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการผลิตวัคซีน อาหาร เช่น ไข่ หรือสารต่างๆ เช่นประวัติการแพ้วัคซีนจากการได้รับในครั้งผ่านๆมา พร้อมประเมินระดับความรุนแรงของอาการแพ้ ถ้าพบว่ามีอาการแพ้วัคซีนรุนแรงแบบ anaphylactic shock ก็ต้องงดให้วัคซีนชนิดนั้น
  • การรักษาหรือยาที่ได้รับ ประวัติการได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือด การได้รับรังสีรักษา/เคมีบำบัด/การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน การได้รับ immune globulin
  • การตั้งครรภ์ หากกำลังตั้งครรภ์ห้ามให้ MMR หากให้ MMR แล้ว ต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • การได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ครั้งสุดท้ายและครั้งต่อไป ต้องห่างเกิน 28 วัน

ข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ปกติคำถามนี้มักใช้อย่างสม่ำเสมอ

ข้อพึงระวัง ผู้ปกครองอาจปกปิดข้อมูล หรือไม่ทราบว่าในขณะนี้เด็กเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจึงตอบปฏิเสธ ผู้ให้บริการจึงต้องใช้การสังเกตอาการและอาการแสดงของเด็กร่วมด้วย

การได้รับสารพวก immunoglobulin

  • ถ้าได้รับสารพวก immunoglobulin มาในระยะใกล้กับการได้รับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ก็ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนไปอย่างน้อย 3-5 เดือน ถ้าได้ขนาดสูงอาจต้องเลื่อนไป 5-11 เดือน
  • และหากได้รับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ก่อนได้รับ immunoglobulin ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ แนะนำให้มารับวัคซีนชนิดนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น prednisolone

ซึ่งจะใช้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก หากได้รับในขนาดที่สูงกว่า 2mg/kg/dose เป็นระยะเวลานานและหยุดยามาไม่ถึง 3 เดือนก็จะไม่ให้วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ทั้งนี้ เด็กป่วยทั่วไปถึงแม้ว่าจะได้รับการพิจารณาเรื่องการได้รับวัคซีนจากแพทย์ที่ดูแลอยู่แล้ว แต่ผู้ให้บริการวัคซีนก็ไม่ควรละเลยในการซักประวัติและติดตามการได้รับวัคซีนของเด็กเพิ่มเติม

การได้รับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ในครั้งเดียวกัน 2 เข็ม

สามารถให้วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ 2 เข็มในวันเดียวกันได้ แต่ต้องแน่ใจว่าไม่เคยรับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์มาก่อนภายใน 28 วัน

เช่น ผู้รับบริการสามารถรับ JE(เชื้อเป็น) กับ MMR พร้อมกันในการมารับบริการครั้งนี้ได้
แต่ถ้ามีประวัติรับ MMR มาไม่ถึง 28 วันก็จะมารับ JE(เชื้อเป็น) ในครั้งนี้ยังไม่ได้ ต้องรอให้เกินระยะเวลานี้ไปก่อน

ในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง(ติดเชื้อ HIV/AIDS)

การให้วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ต้องพิจารณาค่า CD4 ให้อยู่ในปริมาณที่ร่างกายไม่อ่อนแอจนเกินไป จนเชื้อโรคจากการฉีดวัคซีนจะไปทำลายและทำให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปก็จะพิจารณาค่า CD4 ที่ไม่ต่ำกว่า 15% ยกเว้นการให้วัคซีนสุกใส ที่ต้องมีค่า CD4 มากกว่า 25%

เด็กที่ติดเชื้อ HIV/AIDS ที่ไม่แสดงอาการของการติดเชื้อฉวยโอกาส สามารถให้วัคซีนเชื้อตายได้เหมือนเด็กปกติ ส่วนวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ให้พิจารณาตามเงื่อนไขค่า CD4
– การหยอด OPV แทนการให้ IPV สามารถทำได้ในเด็กที่ติดเชื้อ HIV/AIDS
– ในทารกแรกเกิดที่แสดงอาการการติดเชื้อฉวยโอกาส จะงดให้ BCG

GettingaPatientsInformation

ตัวอย่างแบบคัดกรองสำหรับผู้ที่มารับวัคซีน

tablefilter

»