บทนำ – 10 เรื่องที่ต้องรู้สำหรับผู้ให้บริการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถือเป็นการป้องกันในระดับปฐมภูมิและเป็นการบริการด้านการสาธารณสุขพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ในตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย หรือ Expanded Program on Immunization (EPI) หรือ National Immunization Program (NIP) ได้พัฒนาอย่างก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพื่อให้ทันกับการจัดการกับโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งปัจจุบันวัคซีนพื้นฐานที่บรรจุอยู่ในแผนงานฯเป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคติดต่อ 10 โรค ได้แก่ วัณโรค ตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หัด หัดเยอรมัน คางทูม โปลิโอ และไข้สมองอักเสบเจอี และต้องให้กับเด็กไทยทุกคน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของวัคซีนบีซีจี วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนโปลิโอชนิดกินและชนิดฉีด วัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-ตับอักเสบบี วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์และเชื้อตาย วัคซีนเหล่านี้มีความสำคัญด้านการสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ.2558 พื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทำการนำร่องให้วัคซีนเอชพีวี ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีวัคซีนชนิดใหม่ๆจะถูกบรรจุในแผนงาน EPI เช่นวัคซีนโรต้า เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและประสบความสำเร็จในการป้องกัน กำจัดและกวาดล้างโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเป็นลำดับต้นๆในภูมิภาคเอเซีย กลไกสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างดีนั้น มาจากปัจจัยหลายส่วนประกอบกัน ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตรวมถึงหน่วยวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ทำการศึกษาวิจัย ทำให้เกิดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน กลุ่มผู้ให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทีมสุขภาพที่ให้บริการโดยตรงแก่ผู้รับบริการ และกลุ่มผู้รับบริการที่มีตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำบุตรหลานมารับวัคซีน ทำให้เกิดความครอบคลุมและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันโรคในระดับชุมชนได้ในที่สุด
ในหนังสือ 10 เรื่องที่ต้องรู้สำหรับผู้ให้บริการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนี้ จะมุ่งให้ความรู้ที่สามารถศึกษาได้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยีแก่ผู้ปฏิบัติงานการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มที่ให้บริการโดยตรง ได้แก่ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกรและนักวิชาการสาธารณสุข อีกทั้งจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล
จุดประสงค์หลักของการพัฒนา E-learning ชุดนี้
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา นำไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการแนะนำผู้รับบริการ และแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานได้ ยังสามารถใช้ในการปูพื้นฐานความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานใหม่และใช้ทดสอบความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานได้
เนื้อหาสำคัญประกอบด้วย 5 module คือ
- รู้จัก-รู้ฤทธิ์
- รู้ชนิด-รู้ติดตาม
- รู้เก็บ-รู้แก้ไข
- รู้วิธีการ(ให้)-รู้ดูแล
- รู้ภัย-รู้พร้อม
และในแต่ละ module จะมีแบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อวัดผลการเรียนรู้ในเบื้องต้น การพัฒนาเนื้อหาสำคัญในบทเรียนนี้เป็นความรู้ที่ทบทวนจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ตำราต่างๆ เอกสารของกรมควบคุมโรคและเอกสารหลักสูตรที่พัฒนาโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 -2559 ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้จะไม่ได้กล่าวถึงในบทเรียนดังกล่าว