ภญ.ปิยะนาถ เชื้อนาคและคณะ (เรียบเรียง)
อ.ศยามล รมพิพัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ผู้จัดทำสื่อ)
E-Learning » Chapter 5

5.4 อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนและการดูแลรักษาอุปกรณ์
อ่าน 6870 ครั้ง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนและการดูแลรักษาอุปกรณ์

1. ตู้เย็น

ในปัจจุบันคลังวัคซีนระดับอำเภอและสถานบริการส่วนใหญ่ใช้ตู้เย็นบ้าน (Domestic Refrigerator) ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) โดยในระดับคลังควรเป็นตู้เย็นฝาประตูทึบแสงชนิด 2 ประตู แยกช่องแช่แข็ง (Freezing compartment) และช่องธรรมดา (Refrigerator compartment) ขนาดความจุไม่ต่ำกว่า 18 คิว ดังภาพที่ 5.4

ภาพที่ 5.4 ตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาวัคซีน

แต่ในสถานบริการ เช่น รพ.สต. อาจใช้ชนิดประตูเดียว ที่มีขนาดความจุไม่ต่ำกว่า 5 คิว

คุณสมบัติของตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีน

  1. สามารถรักษาอุณหภูมิได้คงที่ตลอดทั้งปี
  2. เก็บรักษาความเย็นไว้ได้นานอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เมื่อไฟฟ้าดับ
  3. มีความหนาของฉนวนตู้เย็นไม่น้อยกว่า 30 มม.
  4. มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 10 ปี หากมีอายุเกินต้องตรวจสอบคุณภาพของตู้เย็นในการเก็บรักษาอุณหภูมิ
  5. มีความจุในการเก็บวัคซีนได้อย่างน้อย 1 เดือน

การดูแลตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีน

  1. ปรับอุณหภูมิในช่องแช่แข็งให้ต่ำกว่า -15°C
  2. ปรับอุณหภูมิในช่องธรรมดาให้อยู่ในช่วง +2°C ถึง +8°C และเพื่อป้องกันไม่ให้วัคซีนที่ไวต่อความเย็นจัดแข็งตัว ควรปรับThermostat ให้ได้ +2°C ถึง +4°C ในช่วงเวลาที่เย็นที่สุด
  3. ตรวจสอบอุณหภูมิทั้ง 2 ช่อง วันละ 2 ครั้ง และบันทึกทุกวัน ถ้าอุณหภูมิเบี่ยงเบนออกไปจากค่าที่กำหนด ต้องมีการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้
  4. ใส่ Ice-pack ในช่องแช่แข็ง และขวดใส่น้ำมีฝาปิดวางไว้ชั้นล่าง (ให้เต็มช่องเก็บผัก) ของตู้เย็น เพื่อเพิ่มอายุความเย็น (Cold life) ทำให้เก็บรักษาความเย็นได้คงที่ในกรณีเปิดตู้เย็นบ่อย และกรณีไฟดับ
  5. ติดตั้งในที่แสงแดดส่องไม่ถึง และให้ผนังตู้ทั้ง 3 ด้านห่างจากฝาผนังห้องหรืออุปกรณ์อื่นไม่ต่ำกว่า 6 นิ้ว เพื่อให้ตู้เย็นระบายความร้อนได้ดี
  6. ทำความสะอาดขอบยางและป้องกันไม่ให้เชื้อราเกาะ โดยใช้น้ำอุ่นผสมน้ำสบู่เช็ดถูให้ทั่ว ใช้ผ้า ชุบน้ำเช็ดจนสะอาด ใช้ผ้าแห้งเช็ดน้ำออกให้แห้ง แล้วใช้ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำเปล่า เช็ดตามขอบตู้เย็นอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเชื้อรา หรือเอาผ้าชุบน้ำส้มสายชูเช็ดถูบริเวณขอบยางที่เป็นรา
  7. ติดตั้งในบริเวณที่มีระบบไฟฟ้าสำรองมาถึง เสียบปลั๊กและใช้เทปพันปลั๊กให้แน่น
  8. ถ้ามีน้ำแข็งเกาะหนาในช่องแช่แข็งเกิน 5 มม. ควรละลายน้ำแข็งออกให้หมด เพราะน้ำแข็ง
    ที่เกาะหนาไม่ได้ทำให้ตู้เย็นเย็นขึ้น แต่อาจไปอุดกั้นไม่ให้ความเย็นไหลลงช่องธรรมดา ทำให้อุณหภูมิในช่องธรรมดาสูงขึ้น